ข่าวดี! วัคซีนต้านโควิด-19 พัฒนาโดยไฟเซอร์ มีผลบวกในการทดลองกับมนุษย์
เอเอฟพี - ว่าที่วัคซีนรักษาไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในโครงการพัฒนาร่วมระหว่าง ไฟเซอร์ อิงก์ บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ กับไบโอเอ็นเทคแห่งเยอรมนี มีผลเบื้องต้นออกมาเป็นที่น่าพอใจ ในการทดลองกับมนุษย์ จากการเปิดเผยในวันพุธ (1 ก.ค.)
วัคซีนที่รู้จักกันในชื่อ BNT162b1 สร้างแอนติบอดีตอบสนองในระดับเดียวกัน หรือเหนือกว่าระดับที่พบเคยเห็นในเซรุ่มระยะฟื้นโรคใดๆ ในปริมาณการใช้ยาที่ค่อนข้างน้อย ตามคำกล่าวอ้างของ อูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอของไบโอเอ็นเทค
ทั้งนี้ เซรุ่มระยะฟื้นโรคก็คือเลือดของผู้หายป่วยจากโควิด-19 นั่นเอง
ข้อมูลเบื้องต้นนี้มาจากการทดลองที่เรียกว่าเฟส 1/2 ซึ่งมีเป้าหมายแสดงให้เห็นว่าวัคซีนไม่มีพิษ และกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อเตรียมความพร้อมให้ร่างกายต่อสู้ขจัดไวรัส
ในการทดลองครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 45 คน อายุระหว่าง 18 ถึง 55 ปี ซึ่งทุกได้รับยา 10, 30 หรือ 100 ไมโครกรัม จำนวน 2 โดส ห่างกันโดสละ 21 วัน บางส่วนได้รับวัคซีนจริงและบางส่วนได้รับยาหลอก
ไฟเซอร์เปิดเผยว่า อาสาสมัครซึ่งได้รับวัคซีน 10 หรือ 30 ไมโครกรัม จะทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี ซึ่งมีความสำคัญในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมระบุว่า วัคซีนดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่ออาสาสมัครแต่อย่างใด
จากข้อมูลการศึกษาที่อัพโหลดลงเว็บไซต์ medrxiv.org. ก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ พบว่ามีผู้เข้าร่วมจำนวนค่อนข้างสูงที่มีไข้หลังได้รับวัคซีนโดสที่ 2 แต่มันเป็นสิ่งที่คาดหมายไว้แล้ว และไม่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคใดๆ
วัคซีนนี้พึ่งพาสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ที่เรียกว่า Messenger RNA รหัสพันธุกรรมที่เล็ดลอดเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ ทำให้มันก่อแอนตีบอดีที่ปรับแต่งโดยเฉพาะสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ปัจจุบันองค์การหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมากทั่วโลก ต่างกำลังแข่งขันกันเพื่อหาวิธีในการบำบัดรักษาและในการป้องกันเชื้อโรคมรณะนี้ ขณะที่จากข้อมูลของวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน พบว่ามีโครงการวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 23 โครงการ ที่เข้าสู่การทดลองทางคลินิกกับมนุษย์แล้ว
หลายโครงการเข้าสู่ขั้นที่ 2 หรือ 3 ของการทดลอง ขั้นที่พวกเขาฉีดว่าที่วัคซีนให้กับอาสาสมัครหลายพันคนเพื่อประเมินประสิทธิผล เฝ้าสังเกตุการณ์ผลกระทบและรวบรวมข้อมูลอื่นๆ ที่จะเปิดทางให้ใช้วัคซีนเหล่านั้นอย่างปลอดภัย
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 2 กรกฏาคม 2563