เอกชนถอดบทเรียนญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย ก่อนไทยตกขบวนหุ้นส่วน CPTPP
ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่ยังไม่สามารถสมัครเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ได้ทันการประชุมคณะกรรมาธิการความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP Commission) ซึ่งจะมีขึ้นปีละ 1 ครั้ง โดยในปีนี้กำหนดจัดในวันที่ 5 สิงหาคมที่จะถึงนี้
โดยสาเหตุหลักมาจากรัฐบาลไทยยังไม่สามารถกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของประเทศไทยได้ว่า ควรจะ “เข้าร่วม” หรือ “ไม่เข้าร่วม” ความตกลงฉบับนี้ เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับความตกลง รวมไปถึงภาคประชาชนยังมีความกังวลในหลาย ๆ ข้อบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธกรณีด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับ “ยา”, การเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญา UPOV ที่จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช จนกระทั่งถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง
ความกังวลเหล่านี้นำมาซึ่งการ “ไม่กล้าตัดสิน” ของฝ่ายการเมือง เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในประเทศระหว่างฝ่ายที่ได้ประโยชน์กับฝ่ายที่เสียประโยชน์ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของ “ยา” ที่มีความอ่อนไหวมาก สุดท้ายรัฐบาลจึงตัดสินใจ “ซื้อเวลาออกไปอีก” ด้วยการโยนเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาข้อดี-ข้อเสียและให้สรุปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง อันเป็นการ “เพิ่มขั้นตอน” อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ปีนี้ไทยจะไม่สามารถยื่นขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ได้ทันตามขั้นตอนที่กำหนด เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญไม่สามารถสรุปข้อดี-ข้อเสียได้ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 จึงมีมติให้ขยายระยะเวลาศึกษาอีก 60 วัน หรือถึงวันที่ 10 กันยายน 2563 แทน
เอกชนขอความชัดเจน
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในการเสวนา “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี” ซึ่งจัดขึ้นโดย กกร. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายืนยันว่า ภาคเอกชนเห็นถึงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งครอบคลุมประชากรกว่า 500 ล้านคน ใน 11 ประเทศสมาชิก
ในขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต้องการความชัดเจนจากทางรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งจากการที่หอการค้าไทยหารือกับหอการค้าญี่ปุ่น มองว่า CPTPP เป็นจุดบวกและต้องการให้ประเทศไทยเข้าร่วม เพราะมีข้อได้เปรียบที่ไทยจะสามารถดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกได้ แต่หากว่าไทยไม่เข้าร่วมความตกลงฉบับนี้นักลงทุน (รวมถึงญี่ปุ่น) ก็อาจย้ายการลงทุนจากไทยไปเวียดนาม ซึ่งเป็นสมาชิก CPTPP แทนประเทศไทย
“การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญยืดระยะเวลาพิจารณาไปอีก 60 วัน อาจทำให้ประเทศสมัครเข้าร่วมเจรจา CPTPP ไม่ทันในปีนี้ การเจรจาต่อรองทำยากขึ้นเพราะจากเดิมเจรจา 7 ประเทศ แต่หากเข้าร่วมปีหน้าต้องเจรจาเพิ่มอีก 4 ประเทศที่กำลังจะให้สัตยาบัน ถึงแม้ว่าจะสมัครแล้วก็ยังมีกระบวนการเจรจาอีก 4 ปี”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า CPTPP ต่างจาก TPP ซึ่งเป็นความตกลงฉบับเดิมที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ (ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวจากความตกลง TPP ตามนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน) ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาถูกถอนออกไปด้วย ส่วนข้อกังวลอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่หลายประเทศก็ขอเวลาปรับตัว เช่น มาเลเซีย-เวียดนาม
ส่วนการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม CPTPP จะเข้าช้าหรือเข้าเร็วนั้น รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า “ล้วนแล้วแต่มีต้นทุน” เพราะการเจรจาข้อตกลงใด ๆ ไม่มีประเทศไหนได้ทั้งหมดหรือเสียโอกาสทั้งหมด แต่หลักสำคัญของการเจรจานั้น “เพื่อประโยชน์สูงสุด” หากรอให้พร้อมจะเสียโอกาส ดังนั้น รัฐบาลควรจะเดินหน้า-ปรับตัว-เยียวยาไปด้วยกัน โดยเปิดเผยข้อมูลการเจรจาพร้อมกับกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาและแก้ไขข้อจำกัดเพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศ
ญี่ปุ่น-ออสซี่เชียร์ไทยเข้าร่วม
Mrs.Tran Thi Thanh My ที่ปรึกษาการพาณิชย์จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทยกล่าวว่า ปัจจุบันเวียดนามยังไม่มี FTA กับ 3 ประเทศในกลุ่ม CPTPP คือ แคนาดา-เม็กซิโก-เปรู ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดดังกล่าว 50% ของการส่งออก แต่เมื่อเข้าร่วม CPTPP เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคน ภาษีเหลือ 0% มูลค่าการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น เวียดนามกลับมาได้ดุลการค้าจากที่เคยขาดดุล โดยสินค้าที่ส่งออกดี คือ สิ่งทอ อาหารทะเล และสินค้าเกษตร จากนี้เวียดนามคาดหวังว่า CPTPP จะทำให้ภาคบริการและการลงทุนเติบโตขึ้น และป็นเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน
Mr.Hugh Robilliard รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ออสเตรเลียไม่มี FTA กับแคนาดา-เม็กซิโก แต่เมื่อเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว การส่งออกดี โดยเฉพาะสินค้าน้ำตาล, เนื้อวัว, นมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งเป็นสินค้าหลัก นอกจากนี้ยังคาดหวังไปถึงการขยายโอกาสให้ภาคบริการด้านการศึกษาด้วย
“ช่วงที่ความตกลงฉบับนี้ยังเป็น TPP ที่มีสหรัฐเป็นสมาชิกหลัก ข้อบทต่าง ๆ ในความตกลงหาข้อสรุปยากโดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แต่เมื่อสหรัฐถอนตัวไปแล้วข้อตกลงต่าง ๆ เดินหน้าเร็วขึ้น พร้อมเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและหวังว่าไทยจะเข้าร่วมความตกลงฉบับนี้”
Mr.Ryohei Gamada นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (เอเชีย) จาก JETRO เห็นว่า ญี่ปุ่นวิเคราะห์ผลจาก CPTPP จะส่งผลไปถึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอีก 10 ปีข้างหน้า เชื่อว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 1.5% หรือ 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจาก CPTPP ทำให้ญี่ปุ่นมีคู่ค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแคนาดา-นิวซีแลนด์ ซึ่งยังไม่เคยมี FTA ร่วมกันมาก่อน หากเทียบ CPTPP กับกรอบญี่ปุ่นที่มีกับไทยคือ JTEPA หรือญี่ปุ่นกับอาเซียน AJCEP พบว่ามีอัตราการลดภาษีมากขึ้นและครอบคลุมกว่า 95% ของสินค้า เช่น ยานยนต์ จาก 6.1% เหลือ 0% ในอีก 5 ปี ส่วนผลกระทบด้านลบต่อภาคเกษตรนั้นญี่ปุ่นแก้ปัญหาโดยการเพิ่มคุณภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า ขณะนี้ไทยมี FTA 13 ฉบับกับ 118 ประเทศ ช่วยให้มูลค่าการส่งออกเติบโตกว่า 300% หากเข้าร่วม CPTPP 7 ประเทศมีมูลค่ารวม 114.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 23.6% ของการค้าไทยกับโลก จะช่วยให้สามารถเปิดตลาดส่งออก
สินค้าสำคัญ ๆ ได้
“เมื่อเปิดเจรจาข้อตกลงใหม่ ไทยได้มีการศึกษาข้อมูลก่อนไทยเข้าร่วมสมาชิกในทุกเรื่องซึ่งครั้งนี้ได้เพิ่มการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการนับว่าเป็นเรื่องที่ดี และหากเจรจาแล้วไม่พร้อมก็สามารถต่อรองขอเวลาปรับตัวได้ และไทยเตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 กรกกาคม 2563