บิ๊กเอกชนถกพาณิชย์เร่งส่งออก คาดทั้งปี -8.7% อ้อนพักชำระหนี้สิ้นปีหน้า

บิ๊กเอกชนห่วงส่งออกทรุด ถกพาณิชย์เร่งกระตุ้นตลาดผ่านออนไลน์ ร้องรัฐช่วยเลื่อนชำระหนี้จาก 6 เดือนเป็นถึงสิ้นปีหน้า ประเมินทั้งปียังติดลบ 8.7%
 
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563  นางสาวพิมพ์ชนก  วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ได้ร่วมจัดประชุมประเมินสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2563 โดยมีตัวแทนภาคเอกชนจากกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ ได้แก่ กลุ่มข้าว ,ยางพารา,อาหาร,น้ำตาล, อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ฟ้า, ยานยนต์, อัญมณีและทองคำ, สิ่งทอ,พลาสติก และผู้แทนจากสภาหอการค้าฯเข้าร่วม รวมกว่า 20 คน  ณ บางกอกคลับ อาคารสาธรซิตี้ ถนนสาทรใต้
 
 
 
นายสนั่น  อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นผลพวงจากสถานการณ์ตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่มีความน่าเป็นห่วง โดยมีหดตัวหรือติดลบ 22.50% และถ้าหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธแล้ว การส่งออกจะหดตัวหรือติดลบถึง 27.19% อย่างไรก็ดีถือว่ายังติดลบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่มีแนวโน้มชะลอตัว จากประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
 
โดยการส่งออกรายตลาดของไทยในเดือนพฤษภาคม ตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่หดตัวได้แก่ ยุโรป(-40%) CLMV (-28%) อาเซียน (-27-9%) ญี่ปุ่น(-24.2%) สหรัฐฯ (-17.3%) แต่มีตลาดที่การส่งออกฟื้นตัวคือ จีน (+15.3%) ซึ่งมีผลไม้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำให้ส่งออกกลับมาขยายตัว ทั้งนี้รัฐบาลของแต่ละประเทศอยู่ระหว่างการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศผ่านมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ  ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น
 
นอกจากนี้ยังคงมีปัจจัยลบในสถานการณ์ที่ทุกประเทศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การลดดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลให้นักลงทุนเลือกย้ายการลงทุนมาฝั่งเอเชียมากขึ้น และอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
 
ทั้งนี้ในการส่งเสริมและกระตุ้นการส่งออกช่วงจากนี้ควรมุ่งเน้นการทำตลาดแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ให้มากยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีศักยภาพ อาทิ สินค้าอาหาร ยาและอุปกรณ์การแพทย์ สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ความต้องการชีวิตวิถีใหม่(New Normal) อาทิ อุปกรณ์ดิจิทัล เนื่องจากคนหันมา Work from home มากขึ้น ขณะเดียวกันควรมีมาตรการที่สนับสนุนการสร้างความเชื่อมั่นด้านการส่งออกสินค้าไทยที่มุ่งเน้นในทุกสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าอาหารปลอดภัยโควิด-19
 
ที่ผ่านมาช่วงโควิดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจัดกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ และจัดกิจกรรมแสดงสินค้าโดยปรับเป็นรูปแบบการจัดในลักษณะ Online Business matching และ การจัด Virtual Exhibition กับประเทศต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวในรูปแบบเดิมได้
 
ขณะที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.หรือเอ็กซิมแบงก์) ได้มีมาตรการ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดให้ครอบคลุมปัญหาในด้านต่าง ๆ ใน 7 มาตรการ ได้แก่ พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน, ขยายเงื่อนไขบริการประกันการส่งออก, สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ(ซอฟต์โลน), สินเชื่อส่งเสริมการจ้างงาน, สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, สินเชื่อสนับสนุนสินค้าผลไม้และยาง และให้ค่าที่ปรึกษาผู้ประกอบการการจัดอบรมออนไลน์
 
“ที่ประชุมได้คาดการณ์สถานการณ์การส่งออกรายเซ็กเตอร์ในปี 2563 โดยคาดยอดการส่งออกในภาพรวมจะอยู่ที่ -8.7% ขณะที่ภาคเอกชน อยากขอให้รัฐบาลช่วยเรื่องการเลื่อนชำระหนี้จาก 6 เดือน ไปเป็นสิ้นปี 2564  เพื่อเสริมสภาพคล่อง”
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 14 กรกฏาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)