UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล
นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เขียนบทความเรื่อง UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล มีใจความสำคัญดังนี้
อนุสัญญาระหว่างประเทศ UPOV 1991 ปกป้องเฉพาะเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นเมล็ดพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น ไม่มีผลต่อเมล็ดพันธุ์พืชที่ขายมาแล้วนานกว่า 1 ปี อันได้แก่พันธุ์พืชดั้งเดิม พันธุ์พืชท้องถิ่น พันธุ์พืชป่า ฯลฯ
UPOV 1991 เป็นความตกลงระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ที่ดีกว่าเก่า เช่นให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีกว่า ต้นทุนต่ำกว่า ทนต่อโรคดีกว่า ทนต่อความแห้งแล้วดีกว่า ทนทาน ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์พืชเก่า ฯลฯ โดยให้การคุ้มครองผลประโยชน์ของนักวิจัยพันธุ์พืช เพื่อเป็นแรงจูงใจให้วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ โดยได้กำหนดให้เมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองเหล่านี้ต้องเป็นของใหม่จริง ๆ ไม่เคยมีมาก่อน ต้องมีลักษณะของพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่แตกต่างอย่างชัดเจน ต้องไม่เคยถูกขายหรือให้ แก่บุคคลอื่นในประเทศในระยะเวลา 1 ปี ต้องมีความสม่ำเสมอและความคงตัวของลักษณะประจำพันธุ์
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เกษตรกรไทยจึงไม่ต้องกังวลเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ใช้กันอยู่ เว้นแต่สนใจจะนำเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่า ที่ได้รับการคุ้มครองไปปลูก เพราะเห็นว่าเมื่อนำมาปลูกแล้ว จะมีรายได้ดีกว่า กรณีนี้เกษตรกรก็สามารถเก็บผลผลิตที่ได้จากเมล็ดพันธุ์ใหม่ เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ใหม่นี้ไปใช้ปลูกในพื้นที่ตนเองในฤดูกาลใหม่ในปีต่อ ๆ ไปได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะละเมิดสิทธิของเจ้าของเมล็ดพันธุ์ใหม่นั้นตราบเท่าที่เกษตรกรนำไปปลูกในที่นาของตนเอง ไม่นำไปขายให้ผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ทางพาณิชย์
ส่วนความกังวลว่าบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่จะเข้ามาครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์และทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงหรือไม่นั้น ไม่น่าใช่ เพราะว่าหากเมล็ดพันธุ์ใหม่นั้นดีจริง ได้รับความนิยมมากเพราะให้ผลผลิตสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ เกษตรกรพอใจที่จะนำมาใช้แทนเมล็ดพันธุ์เดิมเพราะเห็นว่าใช้แล้วได้รายได้มากกว่า กำไรมากกว่า เช่นนี้ก็เป็นทางเลือก ดังนั้น การกำหนดราคาเมล็ดพันธุ์ใหม่ของเจ้าของพันธุ์ย่อมต้องไม่แพงเกินกว่าจะนำมาปลูกแล้วทำกำไรได้ หากปลูกแล้วทำกำไรไม่ได้ เมล็ดพันธุ์ใหม่นี้ก็จะไม่ได้รับความนิยม เกษตรกรก็สามารถเลือกที่จะไม่ซื้อเพื่อนำไปใช้ได้ ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ
UPOV 1991 จึงไม่น่ากลัว เพราะความกังวลทั้งหมดนี้ล้วนมีคำตอบ และคำตอบที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อไทยเข้า UPOV 1991 รัฐบาลไทยควรต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่องานวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ไทยให้หันมาวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช
ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปจำนวนมาก โดยปี 2562 เราส่งออกไปมีมูลค่ากว่า 1.328 ล้านล้านบาท จึงควรจัดสรรงบอย่างน้อยร้อยละ 1 คือ 1.3 หมื่นล้านบาทในแต่ละปีเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกันนี้ อันที่จริง หากรัฐบาลไทยที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรต่ำลง ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพดีกว่าเดิมทำให้สามารถขายแข่งกับนานาประเทศได้ เช่นนี้ เกษตรกรไทยก็ได้มีสินค้าเกษตรที่แข่งขันได้ทั้งคุณภาพและราคา ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รัฐบาลเองก็ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณประกันรายได้ให้เกษตรกร หรือทำโครงการรับจำนำข้าวอย่างเช่นที่ได้ทำมาด้วยงบประมาณจำนวนมาก
ตัวอย่างเช่นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรไทยปลูกกัน ไม่ได้ให้ผลผลิตมากเท่าเมล็ดพันธุ์ข้าวของเวียดนาม ทั้ง ๆ ที่ไทยเองปลูกข้าวและขายส่งออกไปต่างประเทศมานานกว่าเวียดนามนานหลายสิบปี ทุกวันนี้ตลาดข้าวไทยในต่างประเทศถูกเวียดนามแย่งไปแซงไปเป็นอันดับ 2 ไทยเป็นอันดับ 3 เพราะข้าวของเวียดนามดีและมีราคาถูกกว่า ข้าว 5% ของไทยแพงกว่าเวียดนามโดยเฉลี่ยประมาณ 10% เพราะผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรเวียดนามสูงกว่า ต้นทุนจึงต่ำกว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ทำให้ประเทศชาติใช้เงินไปมากกว่า 8 แสนล้านบาทอาจไม่จำเป็นต้องมีหากรัฐบาลในอดีตรู้จักเน้นงานวิจัยและพัฒนา และงบประกันรายได้สินค้าเกษตรอื่น ๆ ทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก
เหตุผลนี้น่าจะจูงใจให้เห็นว่า ในโลกแห่งการแข่งขันทุกวันนี้ เราต้องลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา พัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพื่อเมื่อนำมาปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดี คุณภาพดี ต้นทุนต่ำ แข่งขันในตลาดโลกได้ ถ้าไทยเราได้มีแนวทางอย่างนี้ เรายิ่งต้องเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยเร็วเพื่อปกป้องผลงานวิจัยของเราไม่ให้ประเทศอื่น ๆ ขโมยไป เมื่อไทยร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) เขาให้เวลาไทยยาวนานถึง 4 ปี ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV 1991แต่หากเราส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา มีผลงานที่เด่นกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะเรามีหลากหลายพันธุ์พืชในไทยมากกว่า เราอาจต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV 1991 เร็วกว่า 4 ปีด้วยซ้ำไป
ไทยมีความจำเป็นต้องร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพราะว่าการเข้าร่วมจะทำให้ไทยเป็นแหล่งลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ การลงทุนจากต่างชาติเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมาตลอดกว่า 60 ปี เพราะเงินที่ต่างชาตินำมาลงทุนในไทย ทำให้เกิดการสร้างงาน เกิดการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ เมื่อสร้างงานให้คนไทยมีงานทำ คนไทยก็มีเงิน มีความสามารถในการบริโภคสินค้าและบริการ มีเงินไปสร้างธุรกิจของตนเอง รัฐก็มีรายได้จากภาษีต่าง ๆ นำไปสร้างสาธารณูปโภคนานัปการ บริการทางการแพทย์ ทางสังคม ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตจากจีดีพีไทยที่เคยมีมูลค่าเพียง 7,792 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 155,840 บาทในปี 1960(พ.ศ.2503) คนไทยมีรายได้เฉลี่ยเพียง 2,000 บาทต่อปีหรือไม่ถึง 180 บาทต่อเดือน เติบโตต่อเนื่องจนปี 2019 (พ.ศ.2562) จีดีพีไทยมีมูลค่ามากถึง 529,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 16.4 ล้านล้านบาท คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 241,550 บาทต่อปีหรือ 20,000 บาทต่อเดือน ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากเงินลงทุนจากต่างชาติที่มาผลิตสินค้าและบริการในไทยตั้งแต่ปี 1960 (ดูรูป)
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 19 กรกฏาคม 2563