โควิด ทำครึ่งปีแรกเลิกจ้างแล้ว 3.3 ล้านคน คาดทั้งปีแตะ 7-8 ล้านคน

นายสุชาติ จันทรนาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน COVID-19 กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว นับตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 2562 ถึงเดือน ก.ค. 2563 โดยมีสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว 4,458 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างสูงถึง 896,330 คน และลูกจ้างที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้างจากการปิดกิจการ 332,060 คน
 
รวมทั้งมีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานฯ 62% กว่า 1,369,589 คำร้อง และคาดจะมีเพิ่มขึ้นอีกในช่วงเดือน ส.ค. – ต.ค. 2563 หากมีการขยายมาตรการฯ อีก 800,000 คน รวมจะมีลูกจ้างในระบบที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3,397,979 คน
 
โดย 3 อันดับแรกของกิจการที่ใช้มาตรา 75 คือ ภาคการผลิต, โรงแรม และภัตตาคาร และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ ตามลำดับ โดยภาครัฐควรพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างเพิ่มเติม เพื่อลดปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง คาดว่าทั้งปีมีโอกาสที่จำนวนการเลิกจ้างจะสูงถึงประมาณ 7-8 ล้านคน
 
ภาคเอกชนขอเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือและเยียวยา 7 ข้อ ดังนี้ 
1. ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563
 
2. เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน และขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 ส.ค. 2563 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563
 
3. เร่งพิจารณาการอนุมัติให้สามารถปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมงต่อวัน
 
4. ขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาการรับรองการอบรมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรม ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
 
5. ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เหลือ 0.01%
 
6. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี
 
7. จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้าง โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง
 
นอกจากนี้ ขอให้สํานักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาบรรจุโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน Upskill/Reskill ให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (งบ 400,000 ล้านบาท) เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal
 
ส่วนกรณีที่มีการเสนอแนวคิดให้ภาคเอกชนจัดทำสถานที่กักตัว 14 วันให้แรงงานที่จะนำเข้ามา 100,000 คนนั้น ถือเป็นเรื่องดี โดยเอกชนอาจรวมตัวกันและหาแหล่งที่พักที่เดียว จุให้ได้ 1,000 คน แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มแล้วกับการที่จะได้แรงงานเข้ามา แต่อย่างไร ศบค. ควรให้เอกชนเข้าไปร่วมกำหนดระเบียบด้วย จะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง
 
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน แบ่งออกเป็นผู้มีงานทำ จำนวน 37.3 ล้านคน (ภาคบริการ 47%, ภาคเกษตรกรรม 30% และภาคการผลิต 23%), ผู้ว่างงานจำนวน 3.9 แสนคน และผู้รอฤดูกาลจำนวน 4.9 แสนคน (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2563)
จำแนกออกเป็น 
 
1. แรงงานที่มีรายได้ประจำ (มาตรา 33) ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของประกันสังคม จำนวน 11 ล้านคน
 
2. อาชีพอิสระ (มาตรา 39, 40) ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 8 ล้านคน 
 
3. เกษตรกร ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยา 15,000 บาท จำนวน 17 ล้านคนและ
 
4. ข้าราชการ ได้รับเงินเดือนหรือบำนาญเต็มจำนวนตามปกติ จำนวน 2 ล้านคน โดยคาดว่าธุรกิจการขายส่ง-ปลีก การผลิต และโรงแรมจะมีความเสี่ยงการว่างงานสูงที่สุด
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 กรกฏาคม 2453

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)