ส่งออก มิ.ย.ติดลบ 23% ร่วงต่อเนื่องเดือนที่ 3
ส่งออก มิ.ย.ติดลบ 23.17% รวม 2 ไตรมาสติดลบ 7.09%
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศเดือน มิ.ย.2563 มีมูลค่าการส่งออก 16,444 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 23.17% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน เม.ย.2563
ในขณะที่การนำเข้ามูลค่า 14,834 ล้านดอลลาร์ ลดลง 18.05% รวมได้ดุลการค้า 1,610 ล้านดอลลาร์
รวมการส่งออก 6 เดือน แรกของปีนี้ มีมูลค่า 144,343 ล้านดอลลาร์ ลดลง 7.09% การนำเข้ามูลค่า 103,642 ล้านดอลลาร์ รวมได้ดุลการค้า 10,701 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การส่งออกที่หดตัวมากหากในช่วงที่เหลือของปีนี้เฉลี่ยเดือนละ 16,000 ล้านดอลลาร์ ประมาณการณ์การส่งออกทั้งปีอาจติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ติดลบ 8-9%
ทั้งนี้ ในเดือน มิ.ย.2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและสามารถรักษาอัตราการขยายตัวของการส่งออกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายในหลายประเทศ เนื่องจากสินค้าไทยเป็นสินค้ามีคุณภาพ มีมาตรฐาน และปลอดภัย
โดยสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่ไข่ไก่ขยายตัวในระดับสูงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากสามารถส่งออกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 นอกจากนี้ สินค้าข้าวพรีเมียมยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง และข้าวขาว 100% อย่างไรก็ดี
สินค้าที่ยังหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้ไทยมีปริมาณการส่งออกลดลง
สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่ขยายตัวยังคงเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (โซลาร์เซลล์) และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ขยายตัวอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในหลายประเทศ ซึ่งมีกำลังซื้อลดลง ได้แก่ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) ที่มีการหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคในต่างประเทศยังคงมุ่งเน้นการบริโภคสินค้าจำเป็นมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง ในขณะเดียวกัน การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปยังคงหดตัวตามความต้องการใช้น้ำมันที่ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยังคงหดตัวตามทิศทางน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลก
สรุปภาพรวมการส่งออกไทยในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 16,444.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 23.17 ขณะที่การส่งออกครึ่งปีแรก (มกราคม–มิถุนายน) ของไทยหดตัวร้อยละ 7.09 อย่างไรก็ดี ในแง่รายตลาด การส่งออกยังขยายตัวได้ในหลายประเทศ ได้แก่ จีน (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) สหรัฐฯ ทวีปยุโรป (ไอร์แลนด์ โปแลนด์ เดนมาร์ก) และตะวันออกกลาง (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563
การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังคงมีความท้าทาย โดยมีปัจจัยกดดันการส่งออก ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลงของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายประเทศในเอเชียจะเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดแล้วก็ตาม แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดรอบสอง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐ-จีน และจีน-อินเดีย สร้างความไม่แน่นอนต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา
ในขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ การขนส่งสินค้าที่คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างเริ่มผ่อนคลายเปิดจุดผ่านแดนสำคัญๆ ให้สามารถทำการขนส่งสินค้าได้หลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งขณะนี้การขนส่งสินค้าชายแดนผ่านจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับมาดำเนินการได้เกือบทั้งหมดแล้ว และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัว ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกไปจีนจะยังคงสามารถขยายตัวได้ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ในขณะเดียวกัน ตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวตามการเร่งเปิดเศรษฐกิจ
สำหรับการส่งเสริมการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs (SMES PRO-ACTIVE PROGRAM) เพื่อสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งโครงการฯ ยังเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการจนถึงเดือนเมษายน 2564 คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือและสร้างความเข้มแข็งในด้านการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมปกติของกระทรวงพาณิชย์
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 กรกฏาคม 2563