บริหารเศรษฐกิจยุคโควิด ความเชื่อมั่นคือหัวใจ

วันนี้หัวใจการบริหารเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวยุคโควิด คือ ความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย ปราศจากโรค ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรทำก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวมีอย่างน้อย 3 ประการ รวมถึงรัฐควรเร่งสื่อสาร เพราะเราไม่สามารถปิดประเทศตลอดไป
 
2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาล กรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งทหารและคณะทูตจากต่างประเทศ เสี่ยงเดินทางแพร่เชื้อในประเทศ
 
ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องความสำคัญของการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจ ไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูง ความพยายามของรัฐในการหานักท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ การค่อยๆ ผ่อนปรน เริ่มตั้งแต่หมู่คณะขนาดเล็ก ไล่ไปกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงเช่นนักธุรกิจและผู้มารักษาพยาบาล ถัดไปก็ทำ Travel Bubble กับประเทศต่างๆ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล
 
แต่สาเหตุหลักที่ประชาชนไม่พอใจ เพราะรัฐบาลเน้นกับประชาชนทุกวัน “การ์ดอย่าตก” ทั้งสื่อสารว่าอาจระบาดรอบใหม่ ที่ผ่านมาเราคุมการแพร่ระบาดและจำนวนผู้เสียชีวิตได้ดี นอกจากด้วยความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ ยังเพราะประชาชนเสียสละต้นทุนทางเศรษฐกิจ ทั้งเคอร์ฟิว ปิดบ้านปิดเมือง ขณะที่วันนี้เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้น ต่างประเทศก็พบการระบาดซ้ำ รัฐกลับชักนำความเสี่ยง นำเข้าผู้ติดเชื้อใหม่เสียเอง
 
หัวใจการบริหารเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวยุคโควิด คือ ความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย ปราศจากโรค ทุกคนอยากมาเที่ยวบ้านเราเพราะปลอดภัย ยิ่งปลอดภัย ยิ่งจูงใจให้นักท่องเที่ยวมา นักท่องเที่ยวที่สะอาด ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เปิดแล้วไม่ต้องปิด เปิดแล้วคนในประเทศยังใช้ชีวิตต่อไปได้ ไม่เจ็บป่วย เพราะรัฐต้องตระหนักว่า ไม่ใช่ทุกคนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเท่าเทียมกัน แต่หากเกิดการระบาดซ้ำ ทุกคนเสี่ยงเจ็บป่วยเท่ากันหมด
 
ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว รวมถึงคนไทยเอง ต้องมาจากความจริงจังของรัฐ ในการกำหนดเกณฑ์ตรวจโรคให้ชัด บังคับใช้มีประสิทธิภาพกับผู้มาเยือนทุกระดับไม่ว่านักท่องเที่ยวทั่วไป คนรวย หรือผู้มีตำแหน่งสูงอย่างเท่าเทียม เพราะขนาดนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีบราซิลยังติดได้ ทุกคนเสี่ยงเป็นผู้มีเชื้อได้ทั้งนั้น การตรวจให้รัดกุมจะช่วยยืนระยะให้การระบาดรอบ 2 มาช้าลง ช่วยให้การเปิดประเทศไม่เสี่ยงเกินไป และไม่กระทบระบบสาธารณสุขหนักไป
 
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐควรทำก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวมีอย่างน้อย 3 ประการ
 
ประการแรก :
ทำแผนรับมือการระบาดรอบสอง และประกาศให้ทุกคนทราบ แผนที่ดีและชัด ช่วยให้ทุกฝ่ายรู้หน้าที่ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน แผนที่ชัดเจนยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดีกับประชาชน ดีกว่าบอกเฉยๆ ว่าการ์ดอย่าตก แต่บอกเลย ถ้าพื้นที่ไหน พบผู้ติดเชื้อกี่คน จะต้องปิดหรือล็อกดาวน์ นานแค่ไหน การสื่อสารเช่นนี้ช่วยให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ คาดการณ์อนาคตได้ และตระหนักในการมีส่วนร่วม ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับก็มีแผนชัดเจนในการทำงาน
 
ประการที่สอง :
สิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้นคือ รัฐแก้ไขความบกพร่องที่เกิดขึ้นตอนระบาดรอบแรกหรือยัง หน้ากากอนามัยที่เคยไม่พอ ถ้าระบาดรอบสองจะพอไหม รอบก่อนที่หน้ากากหายไป มีคนรับผิดชอบหรือยัง อุปกรณ์ที่คุณหมอขาดแคลนรอบก่อน หากมีระบาดรอบหน้า จะพอหรือไม่ รัฐบาลต้องจริงจังกับสิ่งเหล่านี้ ไม่งั้นปัญหาเก่าวนกลับมาใหม่ เราก็ไม่พร้อมเหมือนเดิม
 
ประการที่สาม :
เมื่อกำหนดแผนแล้ว หน่วยงานใดไม่ปฏิบัติไม่ว่ารัฐหรือเอกชน จนทำให้เกิดการติดเชื้อในประเทศ เช่น เป็นผู้เชิญมา แต่ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์แล้วพบว่าติดเชื้อ หรือตัวเองพบคนต่างชาติแต่ไม่กักตัว จนแพร่เชื้อโรค หรือเดินทางไปต่างประเทศ กลับมาแล้วไม่กักตัว ...ต้องมีโทษอย่างไร เสียค่าปรับอย่างไร สิ่งเหล่านี้รัฐต้องกำหนดให้ชัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่จริงจัง เอกชนปฏิบัติตาม และประชาชนเชื่อถือ
 
นอกจากนี้ประเด็นที่รัฐควรเร่งสื่อสารในปัจจุบันมี 2 เรื่อง คือ หนึ่ง การเปิดประเทศเป็นเรื่องจำเป็น และสอง การยอมให้มีผู้ติดเชื้อ ในระดับที่ควบคุมได้ เป็นเรื่องที่รับได้ เพราะทั้งสองข้อจำเป็นต่อการพาสังคมไทยไปข้างหน้า รักษาไว้ทั้งความมั่นคงทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อมกัน
 
เราไม่สามารถปิดประเทศตลอดไป เราไม่รู้ว่าจะมีวัคซีนเมื่อไร การเปิดประเทศในแบบที่รัดกุม มีระบบติดตามที่ดีหากมีผู้ติดเชื้อ มีทรัพยากรสนับสนุนระบบสาธารณสุขที่เพียงพอ และยอมให้มีผู้ติดเชื้อได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
 
ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มต้นที่ “ความเชื่อมั่น”
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 สิงหาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)