เตือนเศรษฐกิจไทยเตรียมรับ "ความมั่งคั่งโลก" เปลี่ยน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จับตาตลาดจีนโตแรงเร่งดันส่งออกหันเฟ้นสินค้าไฮเทคซับพลายตลาด วางไทยฐานซับพลายเช่นโลกทั้งกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม ด้านเอกชนกลุ่มอิเล็กทรอกนิกส์ ชี้ทุนจีนเร่งเข้าไทยหลบพิษสงครามการค้า
 
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  จับตาตลาดจีนโตแรงเร่งดันส่งออกหันเฟ้นสินค้าไฮเทคซับพลายตลาด วางไทยฐานซับพลายเช่นโลกทั้งกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม ด้านเอกชนกลุ่มอิเล็กทรอกนิกส์ ชี้ทุนจีนเร่งเข้าไทยหลบพิษสงครามการค้า ทำเม็ดเงิน-เทคโนโลยี-ส่งออกไทยได้อานิสงค์     
เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอย่าง “ส่งออก” ที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงถึง 70% กำลังอยู่ในอาการโคมา แต่ท่ามกลางความกังวลต่างพบว่า ตลาดจีน มีอัตราส่งออกขยายตัวที่สูงและต่อเนื่องมาหลายเดือน อาจเป็นความหวังปลุกเครื่องยนต์ส่งออกให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้นั้น
 
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตลาดจีนมีแนวโน้มการส่งออกที่ดีอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าปีนี้จะเป็นตลาดหนึ่งที่มีอัตราขยายตัวเป็นบวกแต่ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะขยายตัวในอัตราเท่าใด 
 
สาเหตุที่การส่งออกไปจีนมีแนวโน้มดีขึ้น แบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ หนึ่งความต้องการสิินค้าที่เพิ่มขึ้นหลังการหยุดล็อกดาวน์เมืองก่อนหน้านี้ ทำให้สินค้ากลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร ผักสดและผลไม้ และของใช้ประจำวันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ส่วนสาเหตุที่สอง คือซับพลายเชนระหว่างประเทศสามารถขับเคลื่อนได้แล้ว ทำให้ความต้องการวัตถุดิบและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมต่างๆเริ่มกลับมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงชิ้นส่วนยานยนต์ 
 
“กำลังดูว่ากลุ่มวัสดุและอุปกรณ์กลุ่มใหม่ที่จีนนำเข้าหลายรายการนั้นสามารถพัฒนาเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกได้หรือไม่เพราะสาเหตุที่มีการนำเข้าจากไทยมากขึ้นเพราะซับพลายจากบางประเทศยังไม่สามารถผลิตและส่งออกได้ซึ่งผิดกับไทย จึงมีคำสั่งซื้อมาไทยก่อน” 
 
ชี้จีนยังไม่ดึงส่งออกรวมได้ :
 
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการส่งออกไปจีนจะดีขึ้นแต่ไม่สามารถทดแทนการส่งออกในภาพรวมได้เพราะจีนมีสัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมดเฉลี่ยที่ 11% ดังนั้น จึงพิจารณาตลาดอื่นในกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งมีแนวโน้มสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้วและมีีดีมานด์จากการบริโภคเพิ่ม และการผลิตสินค้าต่างๆเริ่มกลับมา โรงงานเริ่มเปิดแล้วจึงเป็นโอกาสที่ไทยไม่เพียงส่งออกสินค้าสำเร็จรูปแต่สามารถผลักดันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของซับพลายเชนของกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ด้วย เบื้องต้น จะเน้นกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่คงยืนพื้นในส่วนสินค้าเกษตรและอาหารต่อไปด้วย 
 
นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปีนี้คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีโควิด-19 ก็มั่นใจว่าจะเติบโตได้มากกว่านี้ 
 
เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ เช่น ฮาร์ดดิสไดรฟ์ ได้ปิดโรงงานในมาเลเซียมาขยายกำลังการผลิตที่ไทยเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ ทำให้การส่งออกในกลุ่มฮาร์ดดิสไดรฟ์ เติบโตอย่างมาก รองรับกระแส New normal ที่ใช้การติดต่อสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตัวอื่นๆค่อนข้างทรงตัว ตามตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ในปีนี้ คาดว่ายอดส่งออกจะลดลงเกือบ 10% เพราะตลาดโลกชะลอตัว
 
ทุนจีนช่วยดันส่งออกไทย :
 
อย่างไรก็ตาม จากกระแสสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบโควิด-19 คาดว่าจะส่งผลบวกกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยทั้งในระยะสั้นและยาว โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุน ได้มีผู้ประกอบการจีนขยายฐานการผลิตเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยก่อนทั้งในรูปแบบร่วมลงทุนกับคนไทย และเข้ามาลงทุนเอง ซึ่งจะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนซัพพลายเชนของตัวเองย้ายเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย ทั้งในอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป
 
นอกจากนี้ ยังส่งผลบวกต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ซึ่งการที่จีนขยายฐานการผลิตเข้ามาในไทย ก็จะทำให้ยอดส่งออกของไทยเติบโตตามไปด้วย โดยจีนได้รีบเร่งในการเข้ามาลงทุนในไทยมาก บางรายรีบย้ายเครื่องจักรจากจีนเข้ามาติดตั้งในไทยสามารถเดินเครื่องผลิตได้ภายใน 6 เดือน เพื่อผลิตสินค้าป้อนให้กับลูกค้าสหรัฐก่อนที่จะเสียลูกค้าเดิมไป รวมทั้งยังมีคำสั่งซื้อจากสหรัฐเข้ามาเพิ่ม เพราะสินค้าที่ส่งออกจากจีนไปสหรัฐมีอัตราภาษีสูงมากถึง 25% จึงต้องหันมานำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ประกอบการไทยทดแทนสินค้าจากจีน
 
การที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีนที่ตามบริษัทแม่เข้ามาลงทุนในไทย ก็ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยอยู่พอสมควร ดังนั้นรัฐบาลจึงควรออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้แต้มต่อกับเอสเอ็มอีไทยให้มีศักยภาพ และเทคโนโลยีแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างเต็มที่ในทุกอุตสาหกรรม
 
ผวาเอสเอ็มอีแข่งพ่ายทุนจีน :
 
 เพราะในปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม new s-curve ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เป้าหมายก็จะได้รับการยกเว้นภาษีน้อยกว่า ซึ่งหากรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีในด้านนี้ ก็จะช่วยให้มีกำลังในการยกระดับจากธุรกิจขนาดเล็กไปสู่ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดใหญ่ได้ในอนาคต
 
“นักลงทุนจากจีนเร่งที่จะเข้ามาขยายฐานการผลิตในไทยทำให้ไทยได้ทั้งเทคโนโลยี และเงินลงทุนจากจีนเข้ามาภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการยกระดับเทคโนโลยีของไทย เพราะนักลงทุนจีนมักจะไม่หวงเทคโนโลยี และรู้สึกสบายใจและปลอดภัยในการลงทุนที่ไทย"
 
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)และ นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การส่งออกในครึ่งปีหลังไปจีนมีแนวโน้มขยายตัวโดยคาดว่าจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 5 % เนื่องจากประเทศจีนมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองจากสถานการณ์โควิด-19 ภาคการผลิตและภาคธุรกิจของจีนเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการ ทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสจากสินค้าของไทยที่จะส่งออกไปจีน 
 
เตือนระวังปัจจัยลบครึ่งปีหลัง :
 
อย่างไรก็ตาม แม้ครึ่งปีหลังตลาดจีนยังสดใส แต่ต้องดูปัจจัยอื่นที่จะมากระทบด้วย เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง สถานการณ์การสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน อาจทำให้ไทยได้รับอานิสงค์บางส่วน อาทิ การสร้างซับพลายเชนใหม่ภายในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการค้า การลงทุนทางตรงและการขนส่งทางเรือไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 
 
รวมถึงผลจากการที่จีนและอาเซียนได้ปรับความตกลงทางการค้าตั้งแต่ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้อุปสรรคระหว่างกันลดลง ทั้งในแง่ของ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า อัตราแลกเปลี่ยน การบริการ การลงทุน และอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการค้าขายและการส่งออกไปยังประเทศจีนได้
 
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งออกไปจีน ถือว่ามีความโดดเด่นมากและยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มพวกผักสด ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากมีความได้เปรียบในเรื่องของความนิยมของผู้บริโภคจีน อีกทั้งในเรื่องของการขนส่งผ่านแดน โดยระยะทางจากไทยไปจีน ถือว่าระยะทางการขนส่งสินค้าทางบกยังไม่ไกลมากทำให้ผลไม้หรืออาหารสดยังมีสภาพที่ดีอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปิดด่านชายแดนหลายด่านแต่ก็ได้รับการแก้ไขได้
 
“ คาดว่าในครึ่งปีหลังโอกาสของการส่งออกกลุ่มอาหารจะขยายตัวได้ดีเหมือนครึ่งปีแรกและมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะขณะนี้ตลาดออนไลน์ของจีนขยายตัวมาก ผู้บริโภคสามารถสั่งอาหารออนไลน์ได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆได้สะดวก “
เอฟดีไอจีนขึ้นแทนเบอร์ 1
 
ก่อนหน้านี้  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบภาวะการลงทุนของประเทศไทย โดยการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ค. 2563) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยคำขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้คำขอส่งเสริมการลงทุนลดลง 10% เมื่อเทียบปี 2562 แต่ลดลงน้อยกว่าคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศที่ลดลง 27%
 
โดยประเทศที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 5 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 3.2 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในช่วงเวลาเดียวกัน 5.3 หมื่นล้านบาทโดยประเทศที่มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีมากที่สุด 5 ประเทศแรก ได้แก่ 1.จีน 8,441 ล้านบาท 2.ญี่ปุ่น 8,114 ล้านบาท 3.สิงคโปร์6,632 ล้านบาท 4.เนเธอร์แลนด์ 6,301 ล้านบาท และ 5.ไต้หวัน 6,126 ล้านบาท
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 สิงหาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)