เศรษฐกิจไทย ผ่านจุดต่ำสุดหลัง“เงินเฟ้อ”ส่งสัญญาณขยับ
นักวิชาการชี้เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว หลังโควิดคลี่คลาย รัฐอัดมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย-ท่องเที่ยว ทำ“พาณิชย์”คาดส.ค.แนวโน้มเงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้น ขณะเดือนก.ค.ติดลบ 0.98%ปัจจัยราคาอาหารสดดีขึ้น คาดทั้งปีติดลบ 1.1%
กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อ เดือนก.ค.เท่ากับ 101.99 ติดลบ 0.98 % เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยหดตัว ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ติดลบ 1.57% จากการสิ้นสุดมาตรการเยียวยา จากภาครัฐในการช่วยเหลือค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาช่วงโควิด-19 และ ราคาพลังงานที่ลดลงในอัตราที่ชะลอตัว 10.91% ขณะที่อาหารสดกลับมา ขยายตัวอีกครั้งที่ 0.04% สอดคล้องกับเงินเฟ้อก.ค.เทียบเดือนก่อนหน้า ขยายตัว 0.66% และเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ติดลบ 1.11%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัย หอการค้าไทยและที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอกาค้าไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อเริ่มติดลบน้อยลง เป็นสัญญาณให้เห็นว่า เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 2 และเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย และการผ่อนปรมมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นและพบว่าราคาอาหารสดเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐานยังต่ำว่าช่วง2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งคงต้องรอดูเงินเฟ้อเดือนส.ค.ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่ ส่วนเงินเฟ้อทั้งปีคาดว่าจะติดลบไม่ถึง 1 % จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาในช่วงครึ่งปีหลัง
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการของภาครัฐ ทั้งการคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศเริ่มปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งโครงการที่สนับสนุนค่าเดินทาง ท่องเที่ยวของอาสาสมัครสาธารณสุข ค่าที่พักและการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ในสถานที่ท่องเที่ยว อันจะส่งผลให้รายได้ของภาคธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป รวมถึงราคา พลังงานโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น จากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และความต้องการใช้น้ำมันของหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติหลังโควิด–19 อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการระบาดระลอกใหม่ และความสัมพันธ์ ระหว่างสหรัฐและจีนที่ไม่แน่นอน อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบผันผวน ซึ่งจะกระทบต่อสถานการณ์ราคาและเงินเฟ้อภายในประเทศได้
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 ที่ติดลบ 1.5 – 0.7 % ค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ1.1% ภายใต้สมมติฐานปี 2563 คือราคาน้ำมันดิบดูไบ เคลื่อนไหวในช่วง 35 – 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน เคลื่อนไหวระหว่าง 30.5 – 32.5 บาทต่อดอลลาร์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หดตัว 8.6– 7.6% อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจมีการทบทวนกรอบการคาดการณ์เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ อีกครั้งในระยะต่อไป
“แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบต่อกันเกิน 3 เดือน แต่ก็ยังไม่ครบหลักเกณฑ์ของเงินฝืดทั้งหมด เนื่องจากราคาสินค้าหลายตัวราคาสูงมากกว่าราคาสินค้าที่ลดลง โดยทั้งปีเงินเฟ้อก็จะอยู่ในแดนลบ”
สำหรับในเดือนก.ค.2563 มีสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น 210 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร กับข้าวสำเร็จรูป สินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 75 รายการ และราคาลดลง 137 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เขียวหวาน พริกสด และเงาะ
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงาน) ก.ค.เท่ากับ 102.92 เพิ่มขึ้น 0.41% เทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 0.39% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และ เฉลี่ย 7 เดือน สูงขึ้น 0.34% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 สิงหาคม 2563