กูรูต่างชาติชี้ "เศรษฐกิจไทย" ไม่ทรุดหนักเท่าเพื่อนบ้านอาเซียน
บรรดานักวิเคราะห์ในต่างประเทศชี้ แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 หดตัวหนักสุดรอบกว่า 20 ปี แต่ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่เจอผลกระทบโควิด-19 เช่นกัน
อเล็กซ์ โฮล์มส จากแคปิตอลอีโคโนมิกส์ ในสิงคโปร์กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ลดลงมากเหมือนเพื่อนร่วมภูมิภาคบางราย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เศรษฐกิจแย่ลงมากกว่า
“แต่ในอนาคต ไทยยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่แย่สุดในภูมิภาคนี้ เพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว” นักวิเคราะห์รายนี้ย้ำ
เดิมนั้น ไทยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือน 40 ล้านคน แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนแรกที่เสียหายจากมาตรการล็อคดาวน์ทั่วโลกในเดือน มี.ค. เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มา ภาคบริการภาคบันเทิง ค้าปลีก โรงแรม และร้านอาหารบอบช้ำหนัก
รัฐบาลพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยการเตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งจากชุดมาตรการทางการเงินในเดือน พ.ค. ให้เป็นทุนสำหรับการท่องเที่ยว
แต่สัปดาห์ก่อน ธนาคารกรุงศรีอยุธยารายงานว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงซบเซาเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติแทบเป็นศูนย์ อำนาจซื้อในประเทศลดลง
เอเอฟพีระบุว่า เศรษฐกิจที่ร่วงลงอย่างไม่มีจุดจบ เป็นตัวเร่งให้เกิดการประท้วงนำโดยนักศึกษาขึ้นแทบทุกวัน เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร
ตัวเลขจากรัฐบาลคาดการณ์ว่า โควิดระบาดอาจทำให้คนว่างงาน 8.4 ล้านคน เท่ากับว่าการจ้างงานที่เพิ่มมาตลอด 20 ปีเลือนหายไปหมด
โฮวี ลี นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโอซีบีซีในสิงคโปร์ กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ความเลวร้ายสุดๆ ดูเหมือนจะจบแล้ว แต่ยังไม่มีเหตุผลให้เปิดแชมเปญฉลอง “จากจุดนี้เราคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับความท้าทายนานัปการที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญ”
ทามารา แมสต์ เฮนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์อาเซียนของบลูมเบิร์ก ระบุ “เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ไม่ได้หดตัวแย่อย่างที่กลัว และไม่ดิ่งลึกเท่ากับ 5 ชาติอาเซียนส่วนใหญ่ประสบ กระนั้น การฟื้นตัวดูเหมือนจะอยู่อีกไกล เผลอๆ ครึ่งปีหลังอาจเป็นแค่การหดตัวตื้นๆ ส่วนการท่องเที่ยวที่คิดเป็นเกือบ 20% ของเศรษฐกิจไทยยังไม่มีทีท่ากลับสู่ระดับปกติก่อนปี 2565”
บลูมเบิร์กรายงานด้วยว่า การประท้วงในไทยมาแรงขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจ การประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีคนเข้าร่วมกว่า 10,000 คน ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่สุดอีกครั้งหนึ่งหลังรัฐประหาร
“ไม่เพียงแต่การท่องเที่ยวที่หดตัวยืดเยื้อ เหตุประท้วงก็อาจบั่นทอนความรู้สึกนักลงทุนด้วย นอกเหนือจากแนวโน้มการบริโภคที่เปราะบางไปเรียบร้อยแล้ว” ลี จากโอซีบีซีให้ความเห็น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 18 สิงหาคม 2563