รู้ทันเกม "จีน" ยุคใหม่ กับบทบาทความมั่นคง-เศรษฐกิจ

รู้ทันเกม "จีน" ยุคใหม่ กับบทบาทความมั่นคง-เศรษฐกิจ เปลี่ยนภาพลักษณ์จากภัยคุกคามในมุมประเทศตะวันตก หันใช้ซอฟพาวเวอร์มากขึ้นโน้มน้าวเพื่อสร้างความนิยมยอมรับ โดยเฉพาะให้ความช่วยเหลือเป็นรายประเทศ ทั้งรูปแบบเงินให้เปล่าและการปล่อยเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน
 
เมื่อประเทศตะวันตกมองจีนเป็นภัยคุกคาม และผู้นำจีนก็หันมาใช้อำนาจในการโน้มน้าวเพื่อสร้างความนิยมยอมรับ (ซอฟพาวเวอร์) มากขึ้น หนึ่งในเครื่องมือสำคัญคือ การให้ความช่วยเหลือเป็นรายประเทศ ทั้งในรูปแบบเงินช่วยเหลือให้เปล่าและการปล่อยเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน เป็นการสร้างกับดักทางเศรษฐกิจ ประกอบกับตอนนี้ ทุกประเทศต่างกำลังเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งดูเหมือนจีนเป็นผู้นำการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสที่ทุกประเทศกำลังต้องการ 
 
กรมข่าวทหารบกจึงได้จัดสัมมนา “จีนยุคใหม่กับบทบาทด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ” ให้รู้ทันความคิดจีน วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จีนยึดถือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศต่างๆ จะเห็นว่า จีนเน้นใช้นโยบายซอฟพาวเวอร์ และให้ความช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไข โดยพยายามฉายภาพให้แตกต่างจากสหรัฐ ที่มักเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ทำให้ประเทศเหล่านี้พึงพอใจจะสานสัมพันธ์พิเศษกับจีน มากกว่าสหรัฐ 
 
“จีนไม่เคยกำหนดเงื่อนไขแลกกับความช่วยเหลือด้านการเงินให้ประเทศผู้รับต้องปฏิบัติตาม และมีหลายกรณีที่จีนยกให้ ในทางปฏิบัติจีนได้รับผลประโยชน์บางอย่างตอบแทนกลับมา อาทิ สัมปทานเหมืองแร่ในประเทศต่างๆ และการบริหารจัดการที่ดินระยะยาว” วรศักดิ์กล่าว
และยกตัวอย่างโครงการสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ในมุมมองของจีน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญให้จีนบรรลุเป้าหมายความรุ่งเรืองเช่นในอดีต
 
จีนย้ำเสมอว่า บีอาร์ไอ มุ่งสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สันติภาพ และเสถียรภาพ แต่ในทางปฏิบัติ บีอาร์ไอ ก่อปัญหาในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ 1.กับดักหนี้ (debt trap) อย่างที่ศรีลังกาต้องโอนทางเรือฮัมบันโตตาให้จีน เพราะไม่มีเงินชำระหนี้ 2.กับดักความมั่นคง (security trap) อย่างกรณีจิบูตีที่จีนเข้าไปตั้งฐานทัพเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ และ 3.กับดักอำนาจในการโน้มน้าวเพื่อสร้างความนิยมยอมรับ (soft power trap) เห็นชัดในลาวและกัมพูชา ที่ตกอยู่ในอำนาจจีน สะท้อนผ่านโครงการรถไฟลาว-จีน และโครงการพัฒนาท่าเรือสีหนุวิลล์ 
 
“จีนทำตัวเป็นจักรวรรดินิยมไม่ต่างจากสหรัฐ ผ่านโครงการบีอาร์ไอ ด้วยการพยายามควบคุมเส้นทางคมนาคมเพื่อรับใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงประเทศ” ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯกล่าว 
 
วรศักดิ์ มองว่าแต่สำหรับจีน กับสหรัฐประเทศมหาอำนาจโลก ซึ่งกำลังมีปัญหาสงครามการค้า จีนพยายามรับมือกับนโยบายแข็งกร้าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มุ่งเอาใจกลุ่มนักธุรกิจและหวังสร้างคะแนนนิยมภายในประเทศ
 
หากวิเคราะห์ความสัมพันธ์จีนกับประเทศต่างๆ เป็นรายภูมิภาค พบว่า จีนแสดงบทบาทและอำนาจถ่วงดุลต่างกันออกไป อย่างในประเทศในเอเชียตะวันออก จีนมีบทบาทในปัญหาคาบสมุทรเกาหลี แม้จีนจะต้องปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซี) ในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ แต่จีนไม่สามารถทอดทิ้งเกาหลีเหนือได้ เพราะเหมือนเป็นพื้นที่กันชน ให้กับจีน จึงพยายามจูงใจประชาคมระหว่างประเทศให้มีท่าทีประนีประนอมกับเกาหลีเหนือ 
 
ขณะที่จีนกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีปัญหาเกิดจากจีนสร้างเขื่อนและระเบิดเกาะแก่งเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ส่งผลกระทบต่อเขตแดนไทยและลาวด้วย แต่การที่ไทยกล้ายืนกรานไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ทำให้จีนล้มเลิกแผนระเบิดเกาะแก่งในที่สุด
 
ส่วนปัญหาในทะเลจีนใต้ จีนต้องการเจรจาข้อพิพาทในกรอบทวิภาคีกับประเทศคู่พิพาทในอาเซียนที่มีการอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อน แต่ประเทศอาเซียนอ้างสิทธิต้องการใช้กรอบอาเซียนช่วยแก้ไขปัญหา ในมุมมองจีน ไม่ต้องการให้ประเทศนอกภูมิภาคเข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาค 
 
สิ่งที่น่ากังวลเป็นเรื่องชาวจีนอพยพใหม่ ที่ผ่านมารัฐบาลจีนส่งเสริมให้ชาวจีนออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ นำไปสู่การตั้งรกรากของชาวจีนรุ่นใหม่ เป็นปัญหาความมั่นคงของไทย น่าสังเกตว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวจีนกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดกลับประเทศ 
 
สกรรจ์ แสนโสภา ผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงจีนยุคใหม่กับบทบาทด้านเศรษฐกิจว่า จีนกำหนดให้เขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง มณฑลกว่างซี เป็นประตูสู่อาเซียนและให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับอาเซียนผ่านความร่วมมือต่างๆ ตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) 
 
สกรรจ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ในการรับมือกับอิทธิพลและภัยคุกคามจากจีน หลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ไทยจำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจน และสร้างความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเท่ากันกับความร่วมมือ บีอาร์ไอ ไม่เพียงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเป้าหมายในการสร้างแนวร่วมทางการเมืองระหว่างประเทศ แสวงหาตลาด และทรัพยากรนอกประเทศจีน รวมทั้งส่งออกอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษของจีนออกไปนอกประเทศ ซึ่งไทยควรระมัดระวังการลงทุนจากจีนด้วย
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 30 สิงหาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)