ส่องขุมกำลังข้าวพันธุ์ใหม่เวียดนาม เพิ่มทางเลือกลูกค้าตีตลาดข้าวไทย

ส่องสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ของเวียดนาม สร้างทางเลือกลูกค้าตีตลาดข้าวไทย ชิงได้เปรียบแข่งขันส่งออก ขณะล่าสุดข้าวขาวไทยแซงคืน ราคาขยับสูงกว่าข้าวเวียดนามแล้วแต่ยังน่าห่วง
 
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันการส่งออกข้าวของเวียดนามได้เปรียบไทยจากมีข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด และขายได้ราคาดี เช่น พันธุ์ OM5441 ราคาประมาณ 510 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน พันธุ์ DT8 ราคาประมาณ 580 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และพันธุ์  ST20 ราคาประมาณ 650 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็นต้น
 
ขณะที่ไทย  ณ ปัจจุบันพันธุ์ข้าวส่งออกหลักยังเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวหอมปทุมธานี ยังไม่มีข้าวพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ผลิตได้เพียงพอจนนำไปส่งออกได้เนื่องจากอยู่ในช่วงของการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เช่นพันธุ์ กข79 และการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ต้องผ่านการรับรองพันธุ์ก่อนจึงจะเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ได้
 
ส่วนกรณีที่ปลายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10-16 สิงหาคม 2563 สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ได้ออกมาประกาศว่าราคาข้าวขาว 5% ส่งออก (เอฟโอบี) ของเวียดนามขายได้ที่ 493-497 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบกับข้าวประเภทเดียวกันของไทยอยู่ที่ 473-477 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามแซงหน้าไทยนั้น
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากเดือนกรกฎาคมราคาข้าวขาว 5% ในประเทศของไทยลดลงจาก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เหลือ 1.35 หมื่นบาทต่อตัน ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลงที่ 31.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ราคาข้าวขาว 5% ส่งออกของไทยลดลงเหลือ 455-460 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวเวียดนามอยู่ที่ระดับ 480-485 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สูงกว่าไทยเป็นครั้งแรก
 
“สถานการณ์ราคาข้าวเวียดนามแพงกว่าข้าวไทยเกิดขึ้นไม่ถึง 10 วัน จากนั้นราคาข้าวไทยเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และแซงหน้าข้าวเวียดนามแล้ว ปัจจุบันราคาข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 510 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ข้าวเวียดนามอยู่ที่ 470-480 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (ข้าวไทยราคาสูงกว่า 30-40 ดอลลาร์) ผลพวงจากข้าวนึ่งไทยเริ่มขายได้จากคู่แข่งขันส่งออกคืออินเดียมีปัญหาส่งมอบล่าช้าจากปัญหาโควิด ทั้งเรื่องคนงานและระบบโลจิสติกส์ เทรดเดอร์จึงหันมาซื้อข้าวนึ่งไทยเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า 1-2 แสนตัน ดันราคาข้าวเปลือกและข้าวขาวขยับขึ้นตาม รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ราคาข้าวส่งออกสูงขึ้น”
 
สำหรับข้าวขาวของเวียดนามได้เก็บเกี่ยวในฤดู Summer-Autumn crop เสร็จแล้ว และจะเก็บเกี่ยวอีกรอบประมาณเดือนตุลาคม 2563  จึงคาดว่าราคาข้าวเวียดนามจะทรงตัวในระดับสูงไปจนถึงช่วงที่ผลผลิตฤดูใหม่จะออกสู่ตลาด ส่วนราคาข้าวขาวของไทยจะขึ้นอยู่กับผลผลิตข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาดและความต้องการข้าวนึ่งในตลาดโลกว่าจะมีเข้ามาต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งคาดว่าราคาจะค่อนข้างทรงตัว  ส่วนข้าวหอมมะลิมีแนวโน้มอ่อนตัวลง เพราะปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวหอมมะลิจำนวนมาก ขณะที่ความต้องการข้าวค่อนข้างชะลอตัว จากราคาข้าวไทยยังคงสูง โดยมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรคือ 1.ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังและนาปี 2.ความต้องการข้าวของตลาดต่างประเทศ และ 3.อัตราแลกเปลี่ยน(ค่าเงินบาท)
 
อย่างไรก็ดี การส่งออกข้าวไทยช่วง 8 เดือนแรกปี 2563 คาดจะส่งออกได้ประมาณ 3.7 ล้านตัน และทั้งปีนี้คาดจะส่งออกได้ประมาณ 6 ล้านตัน ตํ่ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 6.5 ล้านตัน โดยปีนี้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 รองจากอินเดียและเวียดนามที่คาดปีนี้จะส่งออกได้ 9.5-10 ล้านตัน และ 7 ล้านตันตามลำดับ ปัจจัยลบจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งขันจากเงินบาทกลับมาแข็งค่า ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศ ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการระบาดของโควิด-19
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 4 กันยายน 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)