ถ้าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เกิน 60% จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

มีการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า สัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจเกิดใหม่ ควรมีหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ระดับ 60% กว่า หากสูงกว่านี้อการเติบโตอาจไม่ยั่งยืน แต่สถานการณ์โควิด มีแนวโน้มหนี้สาธารณะอาจเกิน 60% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ซึ่งหากเป็นจริงจะเกิดอะไรขึ้น?
 
ตัวเลข 60% ที่ว่านี้คือสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จากข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ราวปี 1999-2000 เป็นช่วงที่เรามีตัวเลขระดับ 60% ที่รัฐบาลไทยออกพันธบัตรจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินจากวิกฤติปี 1997 หลังจากนั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงตามลำดับ จนต่ำที่สุดที่ 35% ในปี 2008 ล่าสุด ณ เดือน มิ.ย. 2563 อยู่ที่ 46%
 
มีการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ว่า ตัวเลขที่ถือว่าเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจเกิดใหม่อยู่ที่ระดับ 60% กว่าๆ หากสูงกว่านี้ก็อาจจะทำให้การเติบโตไม่ยั่งยืน ประมาณว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไล่ไม่ทันภาระหนี้ รวมถึงดอกเบี้ยจ่าย ตัวเลขนี้จึงถือว่าเป็นกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ระบุไว้ในกฎหมายจนขยับเขยื้อนอีกไม่ได้
 
ในสถานการณ์โควิด เรื่องวินัยการคลังไม่ได้สำคัญเกินไปกว่าการเยียวยาเศรษฐกิจ กระแสสาธารณะยอมรับว่าการกู้เงินจำนวนมากมีความจำเป็นแม้จะมีแนวโน้มว่าหนี้สาธารณะอาจต้องเกิน 60% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ทั้งจากการกู้เงินเพิ่ม รายได้เข้าคลังต่ำหรือช้ากว่าเป้าหมาย รวมทั้ง GDP ที่อาจต่ำกว่าประมาณการ
 
เราจะลองสมมุติเหตุการณ์ ว่าถ้าตัวเลขเกิน 60% จะมีความกังวลสัก 3 เรื่อง แล้วสำรวจดูรอบๆ ว่ามันน่ากลัวจริงแค่ไหน หรืออาจจะคลี่คลายไปได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
 
1.การถูกตั้งคำถามจาก credit rating agency เรื่องสถานะการคลัง และโอกาสถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ
 
รายงานของ Fitch Rating ระบุว่า ภายในครึ่งแรกของปี 2563 มีการลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ (Sovereign rating) ไปแล้ว 33 ประเทศทั่วโลก ไม่รวมการ "ปรับลดแนวโน้ม” หรือ Outlook ไปแล้วอีก 40 ประเทศ 
 
สำหรับประเทศไทย แม้ยังไม่มีการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ก็ถูกปรับลด "แนวโน้ม" หรือ Outlook จาก Positive เป็น Stable โดย Fitch Rating เมื่อ 17 มี.ค.2563 ตามมาด้วยโดย S&P เมื่อ 13 เม.ย. และโดย Moody’s เมื่อ 21 เม.ย. ทั้งนี้ได้รวมผลของหนี้สาธารณะที่จะต้องสูงขึ้นแล้วระดับหนึ่ง
 
แต่เรื่องหนี้สาธารณะเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่นำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จริงอยู่ว่า ในรายงานการจัดอันดับ (Rating report) จะระบุจุดอ่อนของไทย เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ จุดแข็งของประเทศไทยก็ยังพอมีอยู่ เช่น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง หนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศที่ต่ำมากไม่ถึง 3% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด ก็เป็นปัจจัยที่ต้านทานความเสี่ยงการลดอันดับความน่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง
 
ดังนั้น หากสามารถยืนยันให้เห็นว่า หนี้ของเราอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ และจะมีแนวโน้มลดลงสู่ระดับปกติในอนาคต ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้
 
2.ภาพของการต้องออกพันธบัตรอันมหาศาล จะคุกคามเสถียรภาพตลาดหรือไม่
 
ในเรื่องนี้กระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณมาเป็นลำดับว่า ปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลจะต้องอยู่ในระดับเหมาะสมที่ตลาดสามารถดูดซับได้ โดยไม่กระทบกับเสถียรภาพตลาด สิ่งที่มีการดำเนินการไปแล้ว คือเกลี่ยและจัดสรรเงินกู้ออกไปยังหลายๆ แหล่งให้เหมาะสม ไม่พึ่งพิงเพียงแต่ตลาดพันธบัตร
 
แต่หากอัตราผลตอบแทนผันผวนรุนแรง ยังมีอาวุธสำรองสำคัญ นั่นคือ QE โดยธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถที่จะเข้ามาดูดซับพันธบัตรออกจากตลาดได้ผ่านการเข้าซื้อในตลาดรอง หรือผ่านมาตรการเสริมอื่นๆ ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพตลาดพันธบัตรได้ประเด็นนี้จึงถือน่าจะไม่น่ากังวลนัก
 
3.การระดมเงินของภาครัฐ จะไปแย่งเงินจากการระดมเงินภาคเอกชนหรือไม่
 
นั่นจึงเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลของข่าวในเดือนสิงหาคม ว่ากระทรวงการคลังบรรลุข้อตกลงการกู้เงินจาก Asian Development Bank จำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลการกระจายแหล่งเงินกู้ และไม่มาแย่งสภาพคล่องภายในประเทศ ซึ่งบริษัทเอกชนก็อยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องก่อหนี้สูงขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้กระทรวงการคลังยังเปิดช่องให้สามารถกู้เงินสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มได้อีกด้วย
 
นอกจากนี้ งบดุลของระบบธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีแรกขยายตัวทั้งในฝั่งเงินฝากและสินเชื่อ โดยในครึ่งแรกของปี 2563 เงินฝากขยายตัว 7.5% เงินปล่อยสินเชื่อขยายตัว 4.4%น่าจะพอชี้ได้บ้างว่า กลไกธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงและส่งผ่านสภาพคล่องระหว่างรัฐกับเอกชนได้ดี การสูบฉีดเลือด (สภาพคล่อง) ในร่างกาย (ระบบเศรษฐกิจ) ยังคงความสมดุล หลอดเลือดไม่ตีบตันภายในอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ
 
การประเมินสถานการณ์เพียงเท่านี้อาจไม่เพียงพอ หากอนาคตอาจจะมีตัวแปรอื่นเพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ตาม หากวันใดสถานการณ์คลี่คลายลงบ้างแล้ว สัดส่วนหนี้สาธารณะก็ควรต้องกลับสู่ระดับปกติ นั่นจึงถือเป็นชัยชนะของการก่อหนี้เกินระดับปกติ
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 กันยายน 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)