รัฐบาลอินโดนีเซียเร่งผลักดันต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์
อุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพในอินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างโอกาสทำผลกำไรให้กับนักลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และการประกาศนโยบายประกันสุขภาพสากลของรัฐบาลอินโดนีเซีย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการแพทย์ โรงพยาบาล เภสัชกรรม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต่างเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลอินโดนีเซียมีความพยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขภายในประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงุทนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเพื่อกระตุ้นให้ชาวอินโดนีเซียที่เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อใช้บริการด้านการดูแลสุขภาพหันกลับมาใช้บริการภายในประเทศ
นโยบายประกันสุขภาพสากล :
อินโดนีเซียได้ประกาศนโยบายด้านสุขภาพสากลเมื่อปี 2557 ภายใต้การดูแลของหน่วยงานด้านประกันสังคมและสุขภาพ ซึ่งกำหนดให้ประชาชนทุกคน รวมถึงชาวต่างชาติที่ทำงานในอินโดนีเซียต้องเข้าร่วมโครงการประกันสุขภาพ โดยทุกบริษัทมีหน้าที่ลงทะเบียนลูกจ้างและเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันส่วนหนึ่งด้วย ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนประกันสุขภาพสากลจำนวนมากถึง 200 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมีประชากรราว 20 ล้านคน ในอินโดนีเซียที่มีประกันสุขภาพส่วนบุคคลและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
โครงสร้างอุตสาหกรรมด้านเภสัชกรรม :
ผลจากการประกาศนโยบายประกันสุขภาพสากลของรัฐบาลอินโดนีเซีย ทำให้อุตสาหกรรมด้านเภสัชกรรมเติบโตขึ้นราว 10-13% ต่อปี โดยยอดจำหน่ายยาในปี 2562 คิดเป็นมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2564
โอกาสในการคิดค้นผลิตภัณฑ์เฉพาะทาง-อนาคตของอุตสาหกรรมด้านเภสัชกรรมมีแนวโน้มที่จะเติบโต เนื่องจากตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่ใช้ในการดูแลอาการป่วยเรื้อรังอันเนื่องมาจากปัญหาไลฟ์สไตล์ บริษัทผู้ผลิตยาจำเป็นต้องคิดค้นยาหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ยาชีวภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ของตลาด
ตลาดสำหรับโรงพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการดูแลสุขภาพ
อินโดนีเซียมีโรงพยาบาลเพียง 2,925 แห่ง คิดเป็นโรงพยาบาลเอกชน 63% และมีจำนวนเตียงผู้ป่วยเพียง 3.18 แสนเตียง หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.17 เตียงต่อผู้ป่วย 1,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
แม้ว่าอินโดนีเซียจะยังมีหน่วยงานสาธารณสุขระดับย่อยอีกกว่า 2.6 หมื่นแห่ง ที่ประชาชนสามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้ แต่ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขยังคงมีอยู่มาก จึงเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติที่จะหันมาลงทุนเพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้
รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติในอาเซียนสามารถถือกรรมสิทธิ์ 70% และนักลงทุนจากประเทศอื่นสามารถถือกรรมสิทธิ์ 67% ในธุรกิจโรงพยาบาลที่ให้บริการเฉพาะทางเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลต่างเผชิญกับความท้าทายในการว่าจ้างแพทย์ และการจัดหาที่ตั้งที่เหมาะสมในการสร้างโรงพยาบาล โดยรัฐบาลอินโดนีเซียมองว่าเมืองรองต่างๆ มีศักยภาพที่จะรองรับการเติบโตในด้านดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากราคาที่ดินไม่สูง และโอกาสในการทำกำไรมีมากกว่าเมืองหลักอย่างจาการ์ตา
นอกจากนี้ รัฐบาลยังกระตุ้นให้นักลงทุนทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์และสถาบันอาชีวะ เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และยังสนับสนุนให้โรงพยาบาลต่างๆ ส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปฝึกงานเพิ่มเติมในหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเพิ่มขอบเขตความรู้ความสามารถ
การลงทุนด้านโทรเวชกรรม (Telemedicine) :
การผนวกรวมเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกันกับการบริการด้านสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเร่งให้เกิดการปฏิรูปภาคการสาธารณสุขของอินโดนีเซีย การใช้แอปพลิเคชันต่างๆ จะช่วยพลิกโฉมการทำงาน การบันทึกผล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลคนไข้ให้กับแพทย์และโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี
การระบาดของโรคโคโรนาไวรัสกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการด้านสุขภาพแบบดิจิทัล อินโดนีเซียมีการพัฒนาและใช้งานแอปพลิเคชันด้านการดูแลสุขภาพ เช่น แอป Alodokter, Halodoc รวมถึงแอป GoJek ที่จับมือกับกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซียในการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ในชุมชนที่ห่างไกล
อุตสาหกรรมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ :
ปัจจุบันอินโดนีเซียมีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นสูงจากต่างประเทศมูลค่าราว 3,000 ล้านดอลลาร์ และความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ในอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการขยายจำนวนและมีการปรับปรุงโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมากขึ้น
บริษัทต่างชาติที่เป็นผู้ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์มายังอินโดนีเซีย เช่น บริษัท ซีเมนส์ บริษัท จีอีเฮลธ์แคร์ และบริษัท ไฟเซอร์ ต่างมองว่าการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นสูง เช่น เครื่อง MRI เครื่องสแกน PET-CT และอุปกรณ์สำหรับห้องไอซียู ฯลฯ น่าจะมีขั้นตอนและความยุ่งยากลดลง เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียพยายามที่จะลดข้อกำหนดและผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดให้นักลงทุนด้านการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์สามารถถือกรรมสิทธิ์ในธุรกิจได้ 49% และจะต้องขอใบอนุญาตการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซียก่อน ส่วนผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจะได้รับพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นกรณีไป
ที่มา business today
วันที่ 27 กันยายน 2563