โควิดหนุนแบงก์ออนไลน์เวียดนามขยายธุรกิจ

“ทิโม พลัส”ธนาคารให้บริการออนไลน์เพียงอย่างเดียวในเวียดนาม จับมือ"เวียต แคปปิตัล แบงก์" เปิดบริการธนาคารดิจิทัลครบวงจร โหนกระแสสังคมไร้เงินสดเวียดนามยุคใหม่ มั่นใจรายได้ทะยาน เหตุพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจากการระบาดของโรคโควิด-19
 
“ทิโม พลัส”ธนาคารให้บริการออนไลน์เพียงอย่างเดียวในเวียดนาม เปิดตัวการบริการทางการเงินดิจิทัลแบบครบวงจร โดยร่วมมือกับหุ้นส่วนรายใหม่คือเวียต แคปปิตัล แบงก์ ด้วยความหวังว่าจะให้บริการมากกว่าการเงินขั้นพื้นฐานแก่ลูกค้าชาวเวียดนามที่พร้อมเปิดรับการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ ท่ามกลางกระแสการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
 
ภายใต้แผนเป็นพันธมิตรครั้งนี้ ทิโม พลัสมีซีอีโอคนใหม่คือเฮนรี เหงียน ซึ่งมีพอร์ทการลงทุนมากมาย รวมทั้งเป็นเจ้าของแฟรนชายส์แมคโดนัลด์ในเวียดนามและถือหุ้นในสโมสรฟุตบอลในนครลอส แองเจลิส โดยเหงียน กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรกันครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายทำงานอย่างใกล้ชิดกันเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้แก่ลูกค้า
 
“เรามีธนาคารที่มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์เดียวกัน และเราทั้งสองฝ่ายต่างต้องการผลักดันให้ธนาคารของเราเป็นธนาคารที่เป็นเลิศด้านนวัตกรรม ซึ่งภายใต้แผนร่วมมือกันครั้งนี้ ทิโม พลัสจะไม่ได้ทำหน้าที่แค่ให้บริการทางการเงินขั้นพื้นฐานอีกต่อไปแล้ว แต่จะให้บริการด้านผลิตภัณฑ์การออม สินเชื่อ ประกัน และธุรกรรมการเงินทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการเงินของผู้คน”เหงียน กล่าว
 
ธนาคารที่ให้บริการเฉพาะออนไลน์อย่างเดียว เริ่มมีมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างกรณีฟิลิปปินส์ เพิ่งออกใบอนุญาตใบแรกให้แก่โทนิก ธนาคารเสมือนจริง ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปลายปีนี้ ทั้งยังมีบริษัทรีโวลัต ของสหราชอาณาจักรที่เข้าไปตั้งในสิงคโปร์ แอนท์ ไฟแนนเชียล หน่วยงานในเครือของอาลีบาบา กรุ๊ป ของจีน และไบต์แดนซ์ เจ้าของติ๊กต็อก กำลังวิ่งเต้นเพื่อขอใบอณุญาตประกอบกิจการธนาคารดิจิทัลในขณะนี้
 
นักวิเคราะห์ มองว่า เวียดนามเป็นตลาดที่สุกงอมสำหรับการทำธุรกรรมทางดิจิทัล โดยผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ของบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป บ่งชี้ว่า ประชากรในเวียดนามที่ถือสมุดบัญชีธนาคารมีเพียงแค่ 40% เท่านั้น สัดส่วนยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและไทย และผลสำรวจความเห็นของชาวเวียดนามล่าสุด พบว่า ชาวเวียดนาม 13-15% ตัดสินใจฝากเงินในรูปแบบดิจิทัลแทนที่การฝากเงินรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน
 
อย่างไรก็ตาม ทิโม พลัส ยังต้องแข่งขันกับธนาคารแบบดั้งเดิมแต่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากกว่าอย่าง ทีพีแบงก์ ซึ่งทุกวันนี้ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ตามสาขาของธนาคาร และแข่งกับเทคคอมแบงก์ ที่อนุญาตให้ลูกค้าของธนาคารเข้าถึงเอทีเอ็มผ่านทางแอพพลิเคชันแทนที่จะเป็นบัตรเอทีเอ็ม
 
ปัจจุบัน เวียดนามกลายเป็นตลาดเนื้อหอมสำหรับบริษัทที่ให้บริการอี-วอลเล็ต อย่างโมโม่ และซาโลเพย์ ที่เชื่อมโยงการบริการเข้ากับบัญชีธนาคารของลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถจ่ายบิลล์ต่างๆ จ่ายค่าสินค้าและบริการได้ ในเวียดนามทุกวันนี้มีผู้ให้บริการแบรนด์อี-วอลเล็ตประมาณ 20 ราย
 
ธนาคารกลางเวียดนาม ระบุว่า จำนวนการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตและเดบิตตั้งปต่ปี 2559-2562เพิ่มขึ้น 51% ขณะที่สมาคมอี-คอมเมิร์ซเวียดนามคาดการณ์ว่ามูลค่าของการค้าออนไลน์จะขยายตัวมากกว่า30% ในปีนี้ ทะลุ 15,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้อานิสงส์จากการระบาดของโรคโควิด-19
 
อย่างไรก็ตาม ชาวเวียดนามบางคนใช้อี-วอลเล็ตโดยไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากและใช้วิธีเพิ่มเงินผ่านแอพฯบนมือถือ แต่รัฐบาลพยายามกระตุ้นให้ชาวเวียดนามเปิดบัญชีธนาคารมากกว่านี้ พร้อมทั้งตั้งเป้าให้ชาวเวียดนามเปิดบัญชีธนาคารให้ได้ 80% ภายในปี 2568 และขยับขึ้นเป็น 90% ภายในปี2573 เพิ่มขึ้นจาก40% ที่เป็นอัตราต่ำสุดในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียน
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 ตุลาคม 2563   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)