ส่งออกปี 63 ติดลบ 10% กกร. ขอต่อมาตรการพยุงเศรษฐกิจ
กกร. ประมาณการปี 2563 ส่งออกดีขึ้นช่วงไตรมาส 3/63 ปรับตัวเลข -10 ถึง -8% จากเดิม -12 ถึง -10% คง GDP -12 ถึง -10% ระดมแผนแก้เศรษฐกิจถกสภาพัฒน์ฯ เตรียมชงต่อ กรอ. ขอรัฐต่อมาตรการช่วยลูกหนี้ อุ้มท่องเที่ยว เปิดทางต่างชาติเข้าประเทศ หวังพยุงเศรษฐกิจไม่ทรุดกว่านี้
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 3/2563 จากมาตรการคลายล็อก การท่องเที่ยวในประเทศจากมาตรการกระตุ้นของรัฐ ทำให้กิจกรรมต่างๆ กลับมา การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวขึ้น จึงปรับประมาณการส่งออกปี 2563 อยู่ที่ -10 ถึง -8% จากเดิม -12 ถึง -10% แต่ยังคง GDP ไว้ที่ -9 ถึง -7% เงินเฟ้อ -1.5 ถึง -1% หากไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่
ขณะที่ไตรมาส 4 ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ด้วยการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังรุนแรงในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน อังกฤษ รัสเซีย อินเดีย รวมถึงในเอเชียอีกด้วย รวมถึงความเสี่ยงจากค่าเงินบาทอ่อน บวกกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กำลังจะหมดลง
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวและยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปอยู่ เอกชนจึงขอให้รัฐต่อมาตรการช่วยผู้ประกอบการต่างๆ เช่น การชะลอคืนเงินกู้ ยืดมาตรการค่าน้ำค่าไฟ ลดเก็บภาษีน้ำมัน เครื่องบิน และเร่งรัดซอฟต์โลนสายการบิน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะเดียวกันรัฐจะต้องเร่งออกมาตรการรีสกิล อัพสกิลให้แรงงาน เปิดเป็นหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือ ทั้งยังต้องรักษาการจ้างงานเดิม กระตุ้นท่องเที่ยว ปรับขั้นตอนการอนุญาตเข้ามาจากต่างประเทศให้เร็วขึ้น
การค้ำประกันเงินกู้จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การขยายเวลาการกู้ซอฟต์โลนของแบงก์ชาติ จาก 2 ปี เป็น 10 ปี รวมถึงการปฎิรูปกฎหมาย
นอกจากนี้จะนำเรื่องการค้าการลงทุน การจ้างงาน SMEs โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช. เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 ตุลาคม 2563