เปิดประเทศ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ

"เปิดประเทศ" หนึ่งในแนวทางฟื้นเศรษฐกิจ นอกเหนือจากกระตุ้นเศรษฐกิจภายในที่ดูเป็นโจทย์ยากพอสมควร เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติที่รุนแรงและลากยาว ส่งผลต่อภาคธุรกิจ การจ้างงาน และการใช้จ่ายของประชาชน แม้จะมีนโยบายรัฐออกมากระตุ้นต่อเนื่อง แต่ก็อาจไม่เพียงพอ
 
เข้าสู่ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 จากที่เคยหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยเลยจุดต่ำสุดไปแล้ว วันนี้กลายเป็นประเด็นที่ต้องทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศทั้งยุโรปและอเมริกายังคงทวีความรุนแรง ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 36 ล้านราย แม้ประเทศไทยผู้ติดเชื้อสะสมจะมีเพียง 3,615 ราย สามารถรักษาอัตราการแพร่ระบาดในระดับต่ำจนเรียกได้ว่าไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นเดียวกับทั่วโลก แนวทางแก้ปัญหาคือการเปิดประเทศเพื่อหารายได้เข้า ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน กลายเป็นโจทย์ที่ยาก
 
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบัน หรือ กกร. ออกมาแสดงความกังวล เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจปัจจุบันยังต่ำกว่าช่วงปกติค่อนข้างมาก เห็นได้จากตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานที่ยังอยู่ระดับสูงและยังไม่ลดลง กกร.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ยังเผชิญความเสี่ยงและความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ในต่างประเทศ หากข้างหน้าโควิดลุกลามมากขึ้น จะกระทบการส่งออกและความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยว ตัวแปรสำคัญในการรับมือกับปัญหาคือการสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ที่ต่อเนื่องและตรงจุดมากขึ้น
 
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด หรือ ศบศ. วานนี้ (7 ต.ค.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคช่วงปลายปี ในโครงการช้อปดีมีคืน ให้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30,000 บาท สำหรับในปีภาษีถัดไป โดยให้ซื้อสินค้าถึง 31 ธ.ค.63 พร้อมกับขยายระยะเวลา เราเที่ยวด้วยกันไป จนถึงเดือน ม.ค.64 ขณะที่แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมวันนี้ (8 ต.ค.) จะมีนักท่องเที่ยวจีนแบบเหมาลำมาลงภูเก็ต ไปเป็นหลังเทศกาลกินเจ ที่จะมีขึ้นระหว่าง 17-25 ต.ค.นี้
ความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุข สธ.ได้เสนอลดจำนวนวันกักตัวเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจ โดยระยะแรกเสนอให้ลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วันก่อน หากได้ผลดีครบ 1 เดือน ประเมินใหม่เพื่อลดลงเหลือ 7 วัน สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำสุด เราเห็นว่าไม่ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน หรือการหารายได้ต่างประเทศจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดหรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด ดังนั้นแม้จะสุ่มเสี่ยงมากแค่ไหน การเดินหน้ามาตรการทั้ง 2 ส่วน ยังเป็นเรื่องจำเป็น
 
เราเห็นว่าปลายปีหรือไตรมาส 4 เป็นช่วงเวลาสำคัญของทุกคน เป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนและคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันฝ่าฟัน แก้ปัญหาเศรษฐกิจและต้องปลอดภัยจากโควิด รัฐบาลทำหน้าที่ออกมาตรการอัดฉีดเงินให้ตรงจุด สธ.ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ภาคธุรกิจและประชาชนก็ต้องเชื่อมั่นและให้ความร่วมมือ เพื่อความหวังเศรษฐกิจปี 63 จะไม่ติดลบมากกว่าไตรมาส 2 อีกแล้ว จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นไปแล้วจริงๆ
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 ตุลาคม 2563      
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)