งัดกฎหมายคุมเข้ม “เครดิตเทอม 30 วัน” เผยยักษ์ใหญ่ดึงหนี้ 62 วัน

“บอร์ดแข่งขัน” รับลูก ศบศ. กู้สภาพคล่องเอสเอ็มอี เร่งถกใช้กฎหมายบังคับสร้างมาตรฐานเครดิตเทอม สกัดขาใหญ่ยื้อจ่าย นำร่อง “ธุรกิจเกษตร-ค้าปลีก” ไม่เป็นธรรม โทษปรับ 10% ของรายได้
 
เปิดข้อมูลยักษ์ใหญ่ตลาดหุ้นดึงหนี้ 62 วัน ด้าน “หอการค้า-สภาอุตฯ” ประสานเสียงต้านออกกฎหมายบังคับ โชว์ดึงบิ๊กธุรกิจ 100 ราย “เซเว่นฯ-บางจาก-ปตท.-สหพัฒน์” เคลียร์เงินเอสเอ็มอีภายใน 30 วัน นำร่องทดลอง 3 เดือน พร้อมเรียกร้องรัฐ-รัฐวิสาหกิจใช้เครดิตเทอม 30 วันเช่นกัน
 
เร่งออกกฎ “เครดิตเทอม” :
 
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ให้ กขค.ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้า (credit term) เพื่อให้มีผลบังคับใช้และบทลงโทษทางกฎหมาย
 
จากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานทำให้แต่ละรายกำหนดระยะเวลาไม่เท่ากัน บางรายมากกว่า 45 วัน หรือถึง 120 วัน ซึ่งเมื่อจ่ายเงินช้าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำให้ขาดสภาพคล่องไม่สามารถนำเงินไปใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น
 
ขณะนี้คณะกรรมการเริ่มหารือกับทั้งสภาพัฒน์และ ธปท. และได้ขอความเห็นเพิ่มเติมจากสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ปี 2560 มีมาตรา 57 ที่เกี่ยวกับเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่จะสามารถนำมาดูแลในกรณีนี้ได้ เช่น บริษัทใหญ่เอาเปรียบรายย่อย แต่ต้องศึกษารายละเอียดของแต่ละสินค้า และรูปแบบการชำระเงิน โดยจะต้องดูทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย และต้องกำหนดเป็นสัญญามาตรฐานเช่นที่เคยทำในกลุ่มซัพพลายเออร์ข้าวถุงกับโมเดิร์นเทรด
 
นำร่องค้าปลีก-เกษตร :
 
“โดยอาจจะเริ่มในบางสาขาธุรกิจก่อน เช่น สินค้าเกษตร กลุ่มค้าปลีก เพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกร หากชำระเงินล่าช้าก็อาจจะทำให้ผลผลิตเน่าเสียและเกษตรกรไม่สามารถจะนำเงินไปลงทุนปลูกหรือไปชำระค่าปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ได้ แต่ก็ต้องดูทั้งฝั่งคนซื้อและคนขายให้เกิดความสมดุลกัน” ศ.ดร.สกนธ์กล่าว
สำหรับรูปแบบการกำหนดแนวทางสัญญามาตรฐาน หรือแนวทางการปฏิบัติที่เป็นธรรม อาจจะออกมาเป็นแนวปฏิบัติหรือ “ไกด์ไลน์” หรือจะออกมาเป็นอนุบัญญัติก็ได้ ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายคือ หากฝ่าฝืนมาตรา 57 (4) จะมีโทษทางปกครองปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด
 
ขาใหญ่ค้านออก กฎหมายคุม :
 
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการสมาชิก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีประมาณ 1-2% จากสมาชิกทั้งหมด 1 แสนราย ก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว ทุกคนก็ต้องดูแลซัพพลายเออร์ในซัพพลายเชนของตัวเองอยู่แล้ว คงไม่มีใครไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นไม่ควรออกเป็นกฎหมายลักษณะบังคับ หากจะทำโทษก็ใช้มาตรการทางสังคมจะดีกว่า ว่าใครไม่ให้ความร่วมมือเป็นราย ๆ ไป
 
ดึงบริษัทยักษ์นำร่อง :
 
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทุกส่วน ประสบปัญหายอดขายลดลง ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมีระยะเวลาในการรับชำระเงินจากการขายสินค้าช้ากว่าปกติ ปี 2563 พบว่ามีการขยายเวลาเครดิตเทอมถึง 60-120 วัน จากปี 2559 ที่มีระยะเวลา 30-45 วัน กว่าที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับเงินจากการขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสภาพคล่อง SMEs โดยตรง และกระทบบริหารการเงินในการทำธุรกิจ
 
ดังนั้นเพื่อช่วยให้ SMEs มีสภาพคล่อง ส.อ.ท.ร่วมกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ 100 บริษัท เริ่มวางระบบชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วน โดยเป็นโครงการนำร่อง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563 ซึ่งจะส่งผลให้เงินหมุนเวียนเข้าในระบบเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาท โดยมีเอสเอ็มอีในซัพพลายเชนถึง 10 ล้านราย หลังจากสิ้นสุดการขอความร่วมมือแล้ว หากไม่เพียงพอให้ SMEs ฟื้นตัว ก็อาจจะพิจารณา “ต่ออายุ” มาตรการเครดิตเทอมนี้ไปอีก
 
เรียกร้องภาครัฐใช้เกณฑ์ 30 วัน :
 
“ส่วนการจะทำเป็นกฎหมายบังคับการจ่ายเครดิตเทอม 30 วัน เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีขนาดของธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งเล็กใหญ่ หลายธุรกิจมีเครดิตกับซัพพลายเออร์แตกต่างกันด้วยข้อจำกัดของประเภทธุรกิจ หากจะไปบังคับทั้งหมด จะกำหนดไซซ์ที่ต้องจ่ายให้รายเล็กอย่างไร จะเป็นการบีบและกระทบสภาพคล่อง แต่สิ่งที่เอกชนต้องการคือผลักดันให้ในส่วนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจต้องมีเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาเครดิตเทอมภายใน 30 วันเช่นกัน และควรกำหนดบทลงโทษหน่วยงานที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนนำมาชำระได้อยู่แล้ว”
 
บางจากยืดอกให้ 30 วัน :
 
ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปัจจุบันบางจากใช้เครดิตเทอม 30 วันให้กับคู่ค้าอยู่แล้ว และได้มีการวางระบบทั้งบริหารจัดการการวางบิล วางเช็ค เรียบร้อยแล้ว มองว่าเป็นแนวทางที่หลายบริษัทควรช่วยกัน เพื่อให้เงินหมุนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท
 
“เราเป็นธุรกิจน้ำมัน ลูกค้าเราคือคนเติมน้ำมัน จ่ายเงินสด เงินหมุนเวียนเข้ามาตลอด ตรงนี้ไม่ห่วง แต่เราก็มีคู่ค้าที่เป็น SMEs หลักร้อยราย มูลค่าก็ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมัน แพ็กเกจจิ้ง กาแฟ การให้เขามีเงินหมุนเร็วขึ้นก็จะช่วยเศรษฐกิจได้ดีกว่า ส่วนการจะทำเป็นกฎหมายคงยาก เพราะธุรกิจมีลักษณะไม่เหมือนกัน อย่างบางจากผลิตน้ำมัน 3-4 วันก็ออกมา แต่บางธุรกิจต้องสั่งวัตถุดิบใช้เวลา 90 วัน ก็จะไม่แมตช์กันระหว่างรายได้กับรายจ่าย”
 
เซเว่นฯช่วยคู่ค้า 4,000 ราย :
 
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากว่า 4,000 ราย โดยบริษัทพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของคู่ค้าและการชำระหนี้ให้กับคู่ค้าภายใน 30 วัน ภายใต้โครงการนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563 ซึ่งปัจจุบันมีการชำระหนี้ให้คู่ค้าในระยะเวลาดังกล่าวอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง
 
เช่นเดียวกับนางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทมีคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ผลิตสินค้าและนำมาจำหน่ายให้กับบริษัท และคู่ค้าทั่วไป ซึ่งการดำเนินการช่วยเหลือสำหรับมาตรการเครดิตเทอม 30 วัน สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้อยู่แล้ว
 
ด้านนายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า บริษัทพร้อมสนับสนุนมาตรการชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายใน 30 วัน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซัพพลายเออร์วัตถุดิบ เครื่องปรุง ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีนโยบายในการพัฒนาเอสเอ็มอีซึ่งเป็นคู่ค้าของบริษัทด้วย
 
ปตท.ชี้เครดิตเทอม 30 วันปกติ :
 
นางสาวจรูญศรี วันเกิดผล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ศูนย์บริการงานบัญชี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปกติบริษัทใช้เครดิตเทอม 30 วันอยู่แล้ว แต่ก็มีส่วนน้อยที่ระยะเวลาชำระหนี้ 45 วัน เพราะต้องยอมรับว่า ปตท.มีสาขาการให้บริการอยู่ทั่วประเทศ สินค้าและคู่ค้าที่มีความหลากหลาย มีทั้งแบบซื้อมาขายไป หรือบางรายการหรืองานบริการอาจต้องรอระยะเวลาตรวจสอบโครงการบ้าง
ขณะที่นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตรกรจาก SMEs กว่า 3,000 ราย เพื่อนำมาผลิตเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และยังมีวัตถุดิบจาก SMEs อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้รายใหญ่อาจกระทบสภาพคล่องบ้างแต่เล็กน้อย ดังนั้นบริษัทจึงเข้าร่วมสนับสนุนสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีเพื่อช่วยหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น
 
บังคับให้ บจ.เปิดข้อมูล :
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา “เครดิตเทอม” ในประเทศไทย ภายใต้คณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำและลดอุปสรรคจากกฎหมายและกฎเกณฑ์ของภาครัฐ คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอแนวทางโดยให้มีผลบังคับใช้และบทลงโทษทางกฎหมาย รวมถึงมีแรงจูงใจด้านบวกให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามดังนี้
 
1.กำหนดเกณฑ์มาตรฐาน “เครดิตเทอม” (สินเชื่อการค้า) ลูกหนี้ต้องชำระให้แก่คู่ค้าภายใน 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ 
 
2.กำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดเผยข้อมูลระยะเวลาเครดิตเทอมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และ
 
3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดีในการลดระยะเวลา credit term เช่น กรมบัญชีกลาง จัดสรรโควตาสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, ธปท. และสถาบันการเงินกำหนดสิทธิพิเศษทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ เป็นต้น
 
ยักษ์ใหญ่ใช้อำนาจต่อรอง :
 
นอกจากนี้ข้อเสนอของคณะทำงานดังกล่าวระบุว่า จากข้อมูลงบการเงินของบริษัทในปี 2559 พบว่าบริษัทขนาดใหญ่มีเครดิตเทอมเฉลี่ย 55 วัน และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะนานถึง 62 วัน ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเครดิตเทอมของ SMEs ซึ่งอยู่ที่ 30-45 วัน
 
โดยปี 2563 เครดิตเทอมที่ SMEs ได้รับจากคู่ค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เฉลี่ยอยู่ที่ 60 วัน และบางธุรกิจขยายสูงถึง 120 วัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ เช่น ไต้หวัน 45 วัน อินโดนีเซีย 34 วัน สิงคโปร์ 29 วัน เป็นต้น ส่งผลให้ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างกระแสเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 9 ตุลาคม 2563 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)