สรุปผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2563
ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ (reopen) ในระยะที่ 1 ถึง 6 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองไทยหลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในเดือนกันยายน และการลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความกังวลสูงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบจาก COVID-19
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 42.9 48.2 และ 59.4 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนสิงหาคม 2563 ที่อยู่ในระดับ 43.6 49.1 และ 60.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานถดถอยลง ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด
การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 51.0 เป็น 50.2 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤต COVID-19 ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนจากระดับ 34.9 มาอยู่ที่ 34.1 แสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 58.7 มาอยู่ที่ระดับ 57.8 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต
การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนและยังทรงตัวต่ำ เนื่องจากความกังกลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองของไทย หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้หลายสถานประกอบการมากขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา และมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องหลายมาตรการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคากว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2453 จนกว่าสถานการณ์ COVID-19 ของโลกจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในช่วงไตรมาที่ 4 ว่าสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งปัจจัยทั้งสองจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
ที่มา Thai Chamber
วันที่ 9 ตุลาคม 2563