การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล "อาเซียน"

ส่องการคุ้มครอง "ข้อมูลส่วนบุคคล" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในโลกดิจิทัล ในอาเซียนมีการจัดการ นโยบาย หรือมาตรการอย่างไรบ้าง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางการค้าและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก
 
เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างโอกาสมหาศาลให้กับธุรกิจ ขณะเดียวกันความปลอดภัยและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคก็เป็นความเสี่ยงที่น่ากังวล ดังนั้น ความท้าทายในการสร้างความเชื่อมั่น การรักษาสิทธิส่วนบุคคล และการจัดการข้อมูล จึงเกิดขึ้นควบคู่กับโอกาสทางธุรกิจ
 
รายงานของ Google, Temasek และ Bain&Company ชี้ว่าปี 2562 อาเซียนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 360 ล้านคน โดย 90% ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก และมีผู้ซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ 180 ล้านคน หรือราว 1 ใน 2 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
 
ในปี 2562 เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนมีมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าปี 2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 20-30% ต่อปี ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามมีอัตราการเติบโตสูงกว่า 40%ต่อปี
 
ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญของกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในโลกดิจิทัล ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตย่อมมีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ที่ผู้บริโภคต้องระบุข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ ที่อยู่ ช่องทางการติดต่อ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมและการชำระเงิน
 
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน เช่น เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ความคิดเห็นทางการเมือง พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งหากถูกเก็บรวบรวม ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยโดยปราศจากความยินยอมของเจ้าของข้อมูลจะส่งผลกระทบอย่างมาก อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยของเจ้าของข้อมูล ถูกรังเกียจหรือเกลียดชัง ไปจนถึงส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน
 
ขณะเดียวกัน หากนำข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ไปใช้เพื่อประเมินพฤติกรรมผู้บริโภค ทำการตลาด หรือทำกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการทำธุรกิจอย่างยิ่ง
 
ข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ออนไลน์มีทั้งข้อมูลที่เจ้าของข้อมูลเปิดเผยไว้ในแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมออนไลน์ การเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลจึงทำได้โดยง่าย
การคุ้มครองข้อมูลมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการค้าสินค้าและบริการในเศรษฐกิจดิจิทัล การคุ้มครองที่ไม่เพียงพอจะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อตลาดจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่ถ้าคุ้มครองอย่างเคร่งครัดเกินไปจะขัดขวางการทำธุรกิจ ทั้งหมดล้วนส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจทั้งสิ้น
 
อาเซียนให้ความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางการค้าและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกในเศรษฐกิจดิจิทัล AEC Blueprint 2025 ได้กำหนดมาตรการเชิงยุทธศาสตร์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน โดยให้มีกรอบสำหรับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เชื่อมโยงกันและครอบคลุมทุกมิติ
 
กรอบการดำเนินงานว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Framework On Personal Data Protection) ของอาเซียนวางหลักเกณฑ์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื้อหาวางกรอบอย่างกว้างและไม่ได้มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นการแสดงเจตนาของประเทศสมาชิก นอกจากนั้น ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งอาเซียนก็ยังเน้นย้ำความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในกิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนอีกด้วย
 
ในอาเซียน ประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะใช้บังคับทั่วไปทุกกรณี ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย ประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองในบางภาคส่วนหรือคุ้มครองตามกฎหมายอื่น ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียได้ร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งคาดว่าจะผ่านเป็นกฎหมายภายในปี 2563 ขณะที่บรูไนมีเพียงนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเมียนมาไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
 
เมื่อพิจารณาประเทศสมาชิกอาเซียนจะเห็นได้ว่า สภาพแวดล้อมทางกฎหมายของอาเซียนปัจจุบันนี้ยังไม่น่าพอใจนัก กฎหมายภายในของแต่ละประเทศยังขาดความสอดคล้องกัน และบางประเทศขาดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างสิ้นเชิง
 
การผลักดันให้กฎเกณฑ์การคุ้มครองข้อมูลที่สอดคล้องกันในทางระหว่างประเทศนั้นเป็นวิธีหนึ่งที่เหมาะสมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถคาดคะเนได้ให้ผู้เกี่ยวข้องและสร้างความเชื่อมั่นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ความไม่ชัดเจนในประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นอุปสรรคต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ จำกัดการทำธุรกรรมข้ามแดนและขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากอาเซียนตั้งเป้าพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ก็ควรต้องผลักดันการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างจริงจัง
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 12 ตุลาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)