ภัยธรรมชาติ ซ้ำเติมโควิด บริหารจัดการดีจึงรอด

ภัยธรรมชาติ วิกฤติที่เข้ามาซ้อนวิกฤติโควิด-19 ที่แม้วันนี้ไทยออกมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแล้ว แต่ก็ยังมีข้อห่วงกังวลถึงการระบาดระลอก 2 โดยเฉพาะสถานการณ์ชายแดน รวมถึงซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจไทย นับเป็นโจทย์ท้าทายต่อการบริหารของรัฐบาลในเวลานี้
 
แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทย จะคลี่คลายลงเป็นลำดับ จนรัฐบาลไฟเขียวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist VISA (STV) เดินทางเข้าไทย แบบจำกัดจำนวน โดยกลุ่มแรกเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน บินลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ และกลุ่มที่สอง เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน บินลงที่สนามบินภูเก็ต ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ โดยมีความเป็นไปได้ว่า หากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแบบจำกัดจำนวนนี้ราบรื่น รัฐบาลก็อาจจะขยายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากกว่าที่กำหนดไว้ ที่เดือนละ 1,200 คน
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังกังวลต่อการระบาดระลอกสองของโควิด-19 ไม่เพียงต้องสกัดการระบาดด้วยการดำเนินมาตรการเข้มงวดด้านสุขอนามัยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามวีซ่า STV อีกหนึ่งความกังวลหนักขึ้นเรื่อยๆ คือการสกัดการระบาดของโควิด-19 ตามด่านพรมแดนต่อเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา หลังพบโควิด-19 ระบาดหนักในเมียนมา ล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ได้แจ้งให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายแดนด้านเมียนมา เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบเดินทางเข้ามาในไทยโดยผิดกฎหมาย
 
ความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง จากความจำเป็นต้อง “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติโควิด ทว่าเศรษฐกิจไทยยังกำลังถูก “ซ้ำเติม” จากสถานการณ์น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะใน อ.ปากช่อง และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ซึ่งเกิดน้ำหลากจากเขาใหญ่ลงสู่เมือง ซึ่งภาคธุรกิจอสังหาฯที่จังหวัดนครราชสีมารายหนึ่งระบุว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในรอบ 20 ปี เริ่มส่งผลต่อภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.-12 ต.ค. เวลา 06.00 น. ระบุว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบใน 11 จังหวัด รวม 35 อำเภอ 81 ตำบล 262 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,309 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
 
เราเห็นว่า ในเวลานี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “โจทย์ยาก” ในการรับมือ กับภาวะเศรษฐกิจทรุดจากวิกฤติโควิด และกำลังถูกภัยธรรมชาติเล่นงาน นับเป็นปัญหาที่ต้องเผชิญหลายเด้งในเวลาเดียวกัน การแก้โจทย์จึงอยู่ที่ “การบริหารจัดการ” วิกฤติรอบด้านอย่างมีสติ “บูรณาการ” ทุกความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมแก้โจทย์ซับซ้อน คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจตั้งครบเรียบร้อย จึงได้เวลาเดินหน้าอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติที่อยู่ในอาการโคม่า ไม่ต้องให้หายป่วย ขอให้ทุเลาอาการ ก็น่ายินดีแล้ว
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 ตุลาคม 2563     

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)