เปิดสวิตช์ ภาคการท่องเที่ยว ให้คุ้มเสี่ยง

มาตรการฟื้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ อาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากรายได้คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ภาคท่องเที่ยวทั้งหมด จึงทำให้รัฐต้องเปิดสวิตช์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่โจทย์สำคัญคือ เปิดประเทศอย่างไรให้ได้คุ้มเสี่ยง?
 
ที่ผ่านมา แม้ทุกฝ่ายจะพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบ “ไทยเที่ยวไทย” เพื่อชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะพยุงภาคการท่องเที่ยวที่เคยสร้างมูลค่ากว่า 2.9 ล้านล้านบาท (20% ของ GDP) และมีการจ้างงานกว่า 8.3 ล้านตำแหน่งในปี 2562 ได้
 
เนื่องจาก 1.รายได้จากไทยเที่ยวไทยปกติมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ภาคท่องเที่ยวทั้งหมดเท่านั้น 2.ปัจจุบันการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังกระจุกตัวในบางจังหวัดและบางช่วงเวลา และ 3.ผลของมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยยังจำกัด
ดังนั้น การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงจำเป็นต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ต้องเปิดอย่างระมัดระวังเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่คุ้มกับความเสี่ยง โดยเริ่มจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรคต่ำแต่ใช้จ่ายสูง (Low risk-High return) ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขของภาครัฐ และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมให้ “การ์ดไม่ตก” เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดประเทศเดินเครื่องจักรภาคการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง
 
ไทยเที่ยวไทยไม่แรงพอ ต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
 
เมื่อไทยยังปิดประเทศ ความหวังเดียวของภาคท่องเที่ยวคือ “นักท่องเที่ยวไทย” ที่ภาครัฐและเอกชนพยายามกระตุ้นให้เที่ยวในประเทศมากขึ้น ทั้งผ่านมาตรการของรัฐอย่างโครงการ “เที่ยวปันสุข” รวมถึงโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่ดึงดูดใจจากเอกชน 
 
แต่รายได้จากคนไทยเที่ยวไทยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เนื่องจาก
 
1.รายได้จากไทยเที่ยวไทยคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ภาคท่องเที่ยวทั้งหมด 
ซึ่งไม่สามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงกว่านักท่องเที่ยวไทยถึง 2 เท่า และมีจำนวนวันพักเฉลี่ยสูงกว่ามาก
 
2.แต่ละจังหวัดได้ผลดีจากไทยเที่ยวไทยแตกต่างกัน 
เนื่องจาก 50% ของครัวเรือนที่มีรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อประกอบกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่นิยมขับรถเที่ยวเองทำให้ภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ อย่างประจวบคีรีขันธ์ อยุธยา และชลบุรี เริ่มปรับดีขึ้น ขณะที่บางจังหวัด อาทิ พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศในเดือน ส.ค.2563 อยู่ที่ 27% ยังต่ำกว่าในเดือน ส.ค.2562 ที่ 63% มาก นอกจากนี้ คนไทยยังนิยมเที่ยวเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์และวันหยุดยาวเท่านั้น
 
3.มาตรการ “เที่ยวปันสุข” 
ยังไม่สามารถกระตุ้นไทยเที่ยวไทยได้มากนัก โดยจำนวนผู้ใช้สิทธิที่พัก “เราเที่ยวด้วยกัน” จนถึงวันที่ 6 ต.ค.มีเพียง 29% ของจำนวนสิทธิทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ และผู้ใช้สิทธิตั๋วเครื่องบินมีเพียง 4% ของจำนวนสิทธิทั้งหมด 2 ล้านสิทธิ
 
หากสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อออกไป อาจกระทบต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและส่งผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ฉะนั้น นอกจากจะต้องปรับโฉมมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยให้ได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงแล้ว การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงเป็นทางรอดที่จำเป็นต่อภาคการท่องเที่ยวไทย
 
เปิดประเทศอย่างไรให้ได้คุ้มเสี่ยง :
 
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ แต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้จากการเปิดประเทศอาจคุ้มค่าที่จะเสี่ยง หากภาครัฐมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม และประชาชนร่วมมือกันเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรับมือได้
 
มาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาครัฐจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำ โดยเริ่มเปิดประเทศอย่างจำกัด เลือกเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรคต่ำแต่ใช้จ่ายสูงก่อน อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาตรวจสุขภาพหรือศัลยกรรมเสริมสวย ซึ่งค่าใช้จ่ายของกิจกรรมดังกล่าวเฉลี่ยต่อทริปในปี 2562 สูงถึง 41,000 บาท หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาว (Long stay) ที่จะทำให้มีการใช้จ่ายสูง รวมถึงควรมีการสร้างกลไกที่ให้เกิดผลประโยชน์ต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการท้องถิ่น เช่น บริการส่งอาหารหรือสินค้าท้องถิ่นถึงโรงแรมที่พัก 
 
ในช่วงที่ผ่านมา แนวทางการเปิดประเทศของภาครัฐค่อนข้างสอดคล้องกับแนวทางข้างต้น อาทิ การเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาตรวจสุขภาพหรือเสริมความงามตั้งแต่เดือน ก.ค. รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบพิเศษ (Special Tourist Visa : STV) ที่เน้นนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แม้การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ STV จะจำกัดจำนวนไม่เกินเดือนละ 1,200 คน แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดว่ากลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายสูงจากทั้งค่าใช้จ่ายต่อวันที่คาดว่าจะสูงถึงกว่า 14,000 บาท และพำนักในไทยนานกว่า
 
นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบการตรวจเชื้อ ติดตาม และกักกัน ผนวกกับการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับและรักษาผู้ป่วยที่เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่เท่ากับศูนย์อีกต่อไปได้ เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบวงกว้างมากขึ้น 
 
ขณะที่ประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ โดยไม่ยึดติดกับเลขศูนย์และต้องการ์ดไม่ตก รวมถึงระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการปิดประเทศไม่รับนักท่องเที่ยวจะทำให้มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่อาจสูงกว่ามาก
 
“มาร่วมมือกันเปิดสวิตช์ภาคการท่องเที่ยวแบบการ์ดไม่ตก เพื่อให้เครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้งกัน” (บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย)
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 ตุลาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)