บ้านปูลุยขยายลงทุนเวียดนาม
“บ้านปู เพาเวอร์”เล็งขยายลงทุนโรงไฟฟ้าหมุนเวียนในเวียดนามเพิ่มรับเศรษฐกิจบูมไม่เลิกแม้ผจญพิษโควิด-19ระบุปีนี้ โรงไฟฟ้าที่จีน-ญี่ปุ่น-เวียดนามเริ่มเข้าระบบ
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า บริษัท ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสเข้าไปขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม เพิ่มเติม เพราะเวียดนามเป็นประเทศกลุ่มลงทุนเป้าหมายที่มีเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกแม้ว่าจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังเติบโต และปัจจุบัน ได้ศึกษาหลายโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าพลังหมุนเวียน ก็จะมีกำลังการผลิตจะอยู่ที่ ประมาณ 40-60 เมกะวัตต์ต่อแห่ง และโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ก็จะมีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 100 เมกะวัตต์ต่อแห่ง
อีกทั้ง บริษัท ยังสนใจและศึกษาโอกาสลงทุนในหลายประเทศ เช่น จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย หากพบว่าผลการศึกษามีความเหมาะสมก็อาจพิจารณาเข้าลงทุนต่อไป
สำหรับปี 2563 จะมีโครงการโรงไฟฟ้าที่จะทยอยเข้าระบบ กำลังผลิตรวม 459 เมกะวัตต์ มาจากโครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Luguang) ในจีน กำลังผลิตรวม 1,320 เมกะวัตต์ หรือ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทที่ 396 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 25 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้า Yamagata กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า Yabuki กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม เอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในเวียดนาม กำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ รวมถึงในปีหน้า จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม หวินเจา ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ จะ COD ในไตรมาส 1 และยังโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มอีก 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ในญี่ปุ่น จะCOD ในปีหน้า
นายกิรณ กล่าวอีกว่า บริษัท อยู่ระหว่างศึกษาเจรจาเข้าซื้อกิจการ(M&A)โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในสหรัฐ หลายโครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่บริษัทแม่ คือ บริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) หรือ BANPU ได้เข้าไปลงทุนโครงการ Shale Gas ในสหรัฐ 2 แหล่ง คือ การเข้าซื้อแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์ (Barnett) ในรัฐเท็กซัส และซื้อแหล่งก๊าซฯมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อเป็นการต่อยอดการลงทุนธุรกิจก๊าซฯไปสู่ Gas to Power ในอนาคต โดยคาดว่า ผลการศึกษาจะมีความชัดเจนในต้นปี 2564
“จริงๆ แล้ว ดูไว้หลายโครงการ ซึ่งโรงไฟฟ้าก๊าซฯในสหรัฐ จะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 800 เมกะวัตต์ และมีข้อดีคือ ระบบท่อก๊าซเป็นเน็ตเวิร์คอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลว่าหากจะตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซฯจะต้องลากท่อก๊าซฯยังไง เพราะโครงข่ายพร้อมแล้ว”
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขยายการลงทุนของบริษัท จะพิจารณาภายใต้หลักการสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.จะเป็นการเติบโตตามการลงทุนของบริษัทแม่ หรือ ดูว่าจะ Synergy ร่วมกันอย่างไร 2.ประเทศที่จะเข้าไปลงทุนจะต้องมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)สูง และ3.ความต้องการใช้พลังงานเติบโตต่อเนื่อง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 20 ตุลาคม 2563