Krungthai COMPASS มั่นใจไทยรับอานิสงส์การค้าจาก โจ ไบเดน ดันส่งออกปีหน้าโต 4%
Krungthai COMPASS ชี้ ‘โจ ไบเดน’ นั่งแท่นผู้นำสหรัฐ ไทยรับอานิสงส์การค้าแน่ คาดส่งออกไทยปีหน้าพลิกเป็นบวก 4% จากปีนี้อาจติดลบ -7.4% แต่ต้องจับตาชิ้นส่วนยานยนต์ที่อาจถูกกระทบได้จากนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดหนุนรถ EV
หลังจาก ‘โจ ไบเดน’ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐใกล้จะนั่งแท่นผู้นำสหรัฐคนใหม่แทนที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ทำให้หลายฝ่ายจับตามองถึงแนวนโยบายว่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงประเทศไทยที่จะได้รับอานิสงส์ในเรื่องการค้าการขายกับเขาบ้างหรือเปล่า โดย ‘ศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาส’ (Krungthai COMPASS) ได้ทำบทวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ หาก โจ ไบเดน เข้ามาเป็นผู้นำสูงสุดแล้ว ไทยจะได้รับอานิสงส์ด้านการค้าอย่างมาก
โดยเฉพาะการกลับมาทบทวนเรื่องการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของไทยก็มีเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากที่ถูกตัดสิทธิไปถึงสองครั้งในสมัยของทรัมป์ และยังมีโอกาสสูงที่สหรัฐ จะกลับมาสานต่อความตกลง CPTPP อีกครั้ง หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (เดิมคือข้อตกลง TPP)
ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ที่ไทยยังไม่ได้มีข้อตกลงทางการค้าด้วย เช่น เม็กซิโกและแคนาดา เพราะเป็นแนวคิดหลักตั้งแต่สมัยที่ บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และ โจ ไบเดน เป็นรองประธานาธิบดีฯ ในการสร้างจุดยุทธศาสตร์การค้าในฝั่งเอเชียและเพิ่มแรงกดดันทางการค้ากับจีน โดยเฉพาะข้อตกลง RCEP (ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศกับคู่ภาคี) ที่มีจีนเป็นหัวหอกหลัก
ทำให้ ‘ศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาส’ ได้ปรับประมาณการส่งออกของไทยปี 2563 คาดจะหดตัวติดลบ -7.4% ก่อนจะพลิกกลับมาขยายตัว 4% ในปี 2564 แม้นโยบายเบื้องต้นของไบเดนจะมีส่วนหนุนเศรษฐกิจและภาพรวมการค้าโลก แต่อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกสำคัญของไทยได้ในระยะข้างหน้า เนื่องจากสหรัฐมีความพยายามที่จะดึง Supply Chain สำคัญของโลกออกจากจีน
โดยการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการส่งเสริมพลังงานสะอาด ทำให้มูลค่าตลาดรถยนต์ EV ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะลดบทบาทตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และแน่นอนว่าจะกระทบผู้ประกอบการไทยที่เป็น Supply Chain ที่สำคัญของโลกในการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปภายใน
เช่นเดียวกับความตกลง CPTPP อาจเพิ่มอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมเกษตรของไทย หากไทยมีความจำเป็นต้องเข้าร่วม CPTPP เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘เวียดนาม’ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ไทยต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกมากขึ้น เช่น กากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงปุ๋ย สารเคมี และยาฆ่าแมลงที่หลายประเทศส่งออกเป็นสินค้าเกษตรหลัก เป็นต้น
ที่มา Business Today
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563