5 ปี สี 4 ปี ไบเดน โลกจะเป็นอย่างไร?
ท่ามกลางความสนใจทั่วโลกที่พุ่งเป้าไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ฟากหนึ่งมหาอำนาจของโลกอย่างจีน ก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญและน่าจับตาอย่างการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างไรบ้าง? ติดตามอ่านได้ที่นี่
ท่ามกลางความวุ่นวายในการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดในสหรัฐ ในอีกฟากหนึ่งของโลก จีนก็กำลังอยู่ในยุคของความเปลี่ยนแปลง โดยในปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา จีนได้มีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี แผนที่ 14 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะนัยของทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นฉากสำคัญของการปูทางให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐ โดยในการประชุมครั้งนี้มีข้อสรุป 3 ประการ ดังนี้
1).ไม่มีการตั้งว่าที่ผู้นำใหม่
โดยปกติแล้วทุกๆ การประชุมแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี จะมีการแต่งตั้งพลเรือน 1 ท่านให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสูงสุดของกองทัพประชาชนปลดแอกของจีน บ่งชี้ว่าบุคคลผู้นี้จะได้เป็นประธานาธิบดีจีนท่านต่อไป แต่เมื่อไม่มี ก็คาดเดาได้ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะอยู่ในตำแหน่งอีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย
2).ในแผน 5 ปีครั้งนี้เน้นปรัชญาเศรษฐกิจใหม่คือ Dual Circulation
ซึ่งโดยสรุปคือ เศรษฐกิจแนวใหม่ของจีนจะพึ่งอยู่กับ 2 วงจร วงจรแรกคือเศรษฐกิจต่างประเทศ (International circulation) คือการเน้นการผลิตเพื่อส่งออก และวงจรที่สองคือเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic circulation) คือการเน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น
แม้ว่าจะหน้าฉาก ปรัชญานี้ดูไม่แตกต่างจากแผนการที่เน้นความสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศแบบทั่วไป แต่ในความเป็นจริง ปรัชญานี้ลึกซึ้งกว่านั้น เพราะสี จิ้นผิงเน้นชัดเจนว่าจะหันมาเน้นการผลิตสินค้าในประเทศทดแทนการนำเข้ามากขึ้น โดยพัฒนาทั้งห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) ในจีน เพื่อสามารถควบคุมการผลิตได้ทั้งหมดและลดความเสี่ยงจากพึ่งพิงวัตถุดิบ รวมถึงสินค้าขั้นกลางจากต่างชาติ ในทางกลับกัน จีนจะหันไปเน้นการส่งออกไปประเทศต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นต้องพึ่งพิงจีนและลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อจีนในยุคถัดไป
ทั้งนี้ จีนพยายามทำตามปรัชญานี้มาช่วงหนึ่งแล้ว โดยนำเข้าคอมพิวเตอร์ชิพลดลงต่อเนื่อง จากประมาณ 80% ของการบริโภคในประเทศทั้งหมดในช่วงปี 2544 มาเป็นประมาณ 68% ในปัจจุบัน ขณะที่ Huawei ประกาศตั้งเป้าห่วงโซ่การผลิตที่ไม่มีสหรัฐ (“Not-made-in-America” Supply chain) ภายใน 2 ปีข้างหน้า และในทางกลับกัน จีนได้เพิ่มระดับการส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้ระดับการค้าของประเทศในภูมิภาค (Intra-Asian trade) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
3).จีนยกเลิกการประกาศเป้าหมายการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
จากที่เคยประกาศทุกครั้งที่มีการวางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี แต่สี จิ้นผิงก็กล่าวเป็นนัยว่าจะเพิ่มขนาดเศรษฐกิจให้เป็น 2 เท่าในปี 2578 ซึ่งแปลงเป็นอัตราการขยายตัวที่ 4.7% ต่อปี
ผู้เขียนเห็นว่าสาเหตุที่จีนยกเลิกการประกาศดังกล่าวเป็นเพราะ
(1) การที่จีนใช้ปรัชญา Dual circulation ทำให้ต้องพึ่งพิงการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง (เนื่องจากการวิจัยช่วงแรกอาจไม่ประสบผลสำเร็จ หรือนำมาเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจได้) และ
(2) จีนหันมาเน้นพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยตั้งเป้าจะเพิ่มการใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากซากฟอสซิลให้ได้ 20% ในปี 2573 และให้เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ให้ได้ในปี 2603 ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวชะลอลงในช่วงแรก ก่อนที่เทคโนโลยีสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาพลังงานสะอาด จะถูกนำมาใช้เป็นวงกว้าง ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงจากต่างชาติ ที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 80% ของการบริโภคในประเทศทั้งหมดด้วย ซึ่งจะอยู่ในปรัชญา Dual circulation และทำให้จีนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นเช่นกัน
ในขณะที่จีนวางแผนขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในระยะต่อไป สหรัฐก็กำลังอยู่ในช่วงขาลงระยะยาว การรับตำแหน่งของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน หลังจากการเลือกตั้งที่แตกแยกครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐนั้น มีนัย 5 ประการต่อความเสื่อมถอยของสหรัฐในเวทีโลก ดังนี้
1).การที่สภาคองเกรสแตกแยก โดยพรรค Democrat ครองเสียงข้างมากในสภาล่างและพรรค Republican ครองเสียงข้างมากในสภาสูงนั้น ทำให้การผ่านกฎหมายต่างๆ ทำได้ยาก ดังนั้น หากประธานาธิบดีไบเดนต้องการผลักดันวาระใดๆ กับจีน โดยเฉพาะเข้าร่วมผ่านข้อตกลงทางการค้าใดๆ แล้ว จะต้องผ่านสภา ทำให้ไม่สามารถผลักดันได้โดยง่าย ยกเว้นแต่ไบเดนจะผลักดันผ่านการใช้คำสั่งประธานาธิบดี (Executive order) ซึ่งจะเป็นการถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ เสียมากกว่า
2).หากไบเดนจะใช้องค์กรระหว่างประเทศกดดันจีนก็ทำได้ยากขึ้น เพราะอิทธิพลของสหรัฐในองค์กรภายใต้ร่มเงาของสหประชาชาติ เช่น องค์การการค้าโลก องค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและการเกษตร สหพันธ์โทรคมนาคมนานาชาติ หรือแม้แต่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ลดลงมาก ขณะที่จีนสามารถส่งคนของตนเข้าไปมีอิทธิพลในองค์กรดังกล่าว จนมีคำกล่าวล้อเลียนว่าในปัจจุบันสหประชาชาติเป็น “People's Republic of the UN” เลียนแบบจีน
3).กฎหมายต่อต้านการผูกขาดในสหรัฐ ในขณะที่มีความพยายามจากสภาคองเกรสในการจำกัดการเจริญเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ จีนกลับสนับสนุนบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ ด้วยการให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท และให้เงินงบประมาณอุดหนุนในโครงการที่สำคัญของบริษัทเหล่านั้น
4).การที่สหรัฐจะพยายามผลักดันให้จีนเข้าสู่มาตรฐานโลกต่างๆ ไม่น่าจะเป็นผล เพราะจีนจะพยายามเข้าสู่มาตรฐานเหล่านั้นอยู่แล้ว ทั้งมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานด้านการผลิต เนื่องจากเป็นการพัฒนาสินค้าและบริการของจีนเอง ดังนั้น สหรัฐไม่น่าจะกดดันจีนด้วยวิธีนี้ได้
และ
5).การบริหารจัดการเศรษฐกิจและรัฐกิจที่เด็ดขาดและสั่งการตรงจากหน่วยงานกลางของจีน จะทำให้การบริหารจัดการวิกฤติในอนาคต รวดเร็ว เด็ดขาดและฉับไวกว่าสหรัฐ ทำให้จีนมีแนวโน้มที่จะผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ได้ดีและรวดเร็วกว่า
ดังนั้น ผู้เขียนคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้า โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้
(1) เศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างสมดุลและแข็งแกร่งกว่าสหรัฐ
(2) บริษัทเทคโนโลยีจีนจะแข็งแกร่งและพึ่งพาตนเองได้มากกว่าปัจจุบัน
(3) ไต้หวันและฮ่องกงจะอ่อนแอ
(4) สินค้าจีนจะเข้าตีตลาดประเทศในเอเชีย รวมถึงตลาดโลกมากขึ้น และ
(5) สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐจะหนักหน่วงขึ้น
เหล่านี้คือสิ่งที่จะเกิดใน 5 ปีข้างหน้า ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย โปรดเตรียมรับมือ
(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563