ไทย ผนึก 14 ชาติ เว้นอินเดีย ลงนาม RCEP ขยายตลาด 9.5 หมื่นล้าน
“จุรินทร์” ลงนามความตกลง RCEP ผนึก 14 ชาติ เว้น “อินเดีย” ยังไม่ร่วม ลุยขยายการค้า-การลงทุน ตลาดส่งออก 95,602.1 ล้าน คาดให้สัตยาบันเริ่มผลบังคับใช้กลางปี 2564
ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 แบบวิดีโอคอลเฟอเรนซ์ ในวันนี้ (15 พฤศจิกายน 2563) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมจะลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( RCEP ) หรืออาร์เซ็ป ร่วมกับสมาชิก 14 ประเทศ คือ อาเซียน 9 ประเทศ และ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมเป็น 15 ชาติสมาชิก โดยยังเหลืออินเดียที่ยังไม่ร่วมลงนาม
หลังจากนี้ แต่ละประเทศจะดำเนินการตามกระบวนการภายใน ให้สัตยาบัน ซึ่งข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกอาเซียนครึ่งหนึ่งให้สัตยาบันและสมาชิกที่ไม่ใช่อาเซียน (Non-Asean) อีกครึ่งให้สัตยาบัน ก็น่าจะเริ่มเปิดเสรีได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2564
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป เมื่อปี2562 ไทยในฐานะประธานอาเซียนขณะนั้นได้ส่งไม้ต่อความสำเร็จในการเจรจาให้กับ “เวียดนาม” ในฐานะประธานอาเซียนและเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดอาเซียนปีนี้ หลังจากที่ประเทศสมาชิก ได้ใช้เวลาในการเจรจากันมานานกว่า 7 ปี เพื่อผลักดันกรอบการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีประชากร 3,600 ล้านคน
แต่ทว่า “อินเดีย” 1 ในชาติพันธมิตรของ RCEP เกิดพลิกท่าทีด้วยการประกาศไม่ร่วมรับรองผลการเจรจา RCEP ในคืนวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 จากเหตุผลที่ว่า การเจรจา RCEP ไม่ตอบโจทย์ความกังวลและผลประโยชน์ที่น่าพอใจของอินเดีย จึงเหลือสมาชิก เพียง 15 เท่านั้นที่เข้าร่วมลงนาม
และด้วยความที่อินเดียมีประชากร 1,000 ล้านคน การแตะเบรคของอินเดียจึงทำให้กรอบ RCEP แผ่วลง ส่วนญี่ปุ่นก็เพิ่งเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นนายโยชิฮิเดะ ซูงะที่มารับหน้าที่แทนนายชินโซ อาเบะ ที่มุ่งสารต่อนโยบายสร้างความเชื่อมโยงในกลุ่มอาเซียน
แต่ไฮไลต์โดดเด่นน่าจะไปอยู่ที่จีนพี่ใหญ่ในกลุ่มที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ทำความตกลงการค้าเสรีมากที่สุดกับ 53 ประเทศไม่เพียงแค่ RCEP แต่ยังมีกรอบสำคัญอย่าง CPTPP และเอฟทีเอไทย-เวียดนาม หรือ EVFTA ด้วย
สำหรับไทยมีการส่งออกไปตลาด RCEP ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) 2562 มูลค่า 95,602.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 9.33% จากปีก่อน ที่มีการส่งออกมูลค่า 105,439 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจาก RCEP มูลค่า 96,317.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่นำเข้า 109,397.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
อนึ่ง ข้อตกลง RCEP ครอบคลุม 20 ข้อบท ประกอบด้วย
1).บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป
2).การค้าสินค้าซึ่งจะมีการเปิดตลาดให้สินค้าบางรายการสำหรับสมาชิกต่างกัน
3).กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า จะเน้นการสะสมแบบ bilateral communication
4).พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า
5).สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
6).มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิคและกระบวนการตรวจสอบและรับรอง
7).การเยียวยาทางการค้า
8).การค้าบริการ ภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ
9).การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา
10).การลงทุน จะไม่มีการบังคับใช้เรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและรัฐ (ISDS)
11).ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ
12).วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
13).ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้มีการบังคับให้เป็นภาคี UPOV 1991 และ Budapest Treaty
14).พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
15).การแข่งขัน
16).การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
17).บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน
18).บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น
19).การระงับข้อพิพาท
20).บทบัญญัติสุดท้าย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563