ไทยลงนาม RCEP กลุ่มหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ข้อตกลงใหญ่ที่สุดคิดเป็น 30% ของ GDP โลก

ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกกว่า 15 ประเทศ รวมไปถึงประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือที่เรารู้จักกันว่า RCEP ซึ่งจะเป็นโอกาสใหม่ๆ ของผู้ส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ
 
ไทยได้ลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือที่เรียกย่อๆ ว่า RCEP ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศในอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ และประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิกอีก 5 ประเทศประกอบไปด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รวมไปถึง นิวซีแลนด์ ซึ่งจะทำให้เป็นข้อตกลงทางการค้าและเศรษฐกิจที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกทันที
 
สำหรับขนาดเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าร่วม RCEP นั้นคิดเป็น 30% ของ GDP โลก และประเทศที่เข้าร่วมจะสามารถเข้าถึงประชากรมหาศาลถึง 2,200 ล้านคน นอกจากนี้หลายๆ ประเทศที่ได้ลงนามข้อตกลง RCEP นี้หวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้กลับมาไวได้มากกว่าเดิม
 
จุดเริ่มต้นของ RCEP ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2012 และมีปัญหาคาราคาซังมาเป็นระยะเวลานานในการเจรจาและชักชวนประเทศต่างๆ ให้เข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวนี้
 
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับนั่นคือสินค้าของไทยจะสามารถเปิดตลาดใหม่ๆ ในประเทศเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปบางชนิด เช่น น้ำมะพร้าว น้ำส้ม สินค้าด้านการบริการ เช่น ก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ฯลฯ
 
ข้อดีของข้อตกลง RCEP ที่ทำให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอาเซียนเข้าร่วมคือ ความยืดหยุ่นของ RCEP ที่ยอมรับความต้องการของแต่ละประเทศได้ ซึ่งแต่ละประเทศในเอเชียแปซิฟิก 15 ประเทศนั้นมีความหลากหลายและแตกต่างกัน ต่างกับข้อตกลงอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ที่ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมต่างก็ต้องทำตามมาตรฐานในข้อตกลงต่างๆ เช่น เรื่องของแรงงาน สิทธิมนุษยชน หรือการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด
 
อย่างไรก็ดีในการลงนามข้อตกลง RCEP นี้ประเทศต่างๆ กว่า 15 ประเทศยังหวังว่าอินเดียจะกลับเข้ามาเข้าร่วมกับ RCEP อีกครั้ง หลังจากที่ถอนตัวออกไปในช่วงการประชุมอาเซียนที่ประเทศไทยในปี 2019 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลสำคัญคือการทะลักของสินค้าจีน รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน ที่ยังหาข้อสรุปเหล่านี้ไม่ได้
 
หลังจากนี้ประเทศในอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิกอีก 3 ประเทศต้องลงนามในสัตยาบันหลังจากนี้ในระยะเวลา 2 ปี เพื่อที่จะมีผลบังคับใช้
 
ที่มา brandinside.asia
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563