การประชุมอาเซียนครั้งที่ 37 ลงนาม RCEP สำเร็จ ร่วมหาทางออกข้อพิพาท

ชาติอาเซียนทั้ง 10 ชาติ และประเทศคู่ค้า ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ก้าวแรกของการนำไปสู่เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 
การลงนามเขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ไร้เงาสหรัฐฯ คาดเปิดทางให้จีนรุกตลาดอาเซียนโดยไร้คู่แข่งรายใหญ่ ส่วนชาติสมาชิกพอใจได้ประโยชน์ทุกฝ่ายหวังเจาะตลาดจีน คาด RCEP เป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
 
สมาชิกอาเซียนเห็นพ้องหาทางออกปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้อย่างสันติ 
 
การประชุมอาเซียนครั้งที่ 37 ที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ อาจไม่คุ้นตาเท่าไรนัก หลังจากที่ทุกชาติได้ร่วมหารือทางไกล แต่ถึงแม้ตัวผู้นำของแต่ละชาติจะเจรจาจากโต๊ะทำงานในประเทศ ไม่ได้จับมือยืนกระทบไหล่กันกันแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของการประชุมอาเซียน แต่การประชุมรูปแบบทางไกลนั้นไม่เป็นอุปสรรคใดๆ หลังจากที่มีการร่วมหารือในประเด็นสำคัญได้อย่างราบรื่น หนึ่งในนั้นคือความท้าทายในการต่อสู้และการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ในภูมิภาค รวมถึงการร่วมลงนามในความตกลงเขตเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ไฮไลต์ที่ทุกฝ่ายลุ้นกันมานาน 8 ปี ซึ่งมีการลงนามเป็นไปตามความคาดหมาย ทำให้เกิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 
ชาติอาเซียนและคู่ค้าลงนาม RCEP เปิดเขตการค้าเสรี สื่อนอกมองเอื้อการค้าจีน
 
ความตกลงการค้าขนาดใหญ่ได้ถูกลงนามเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา โดยมีชาติอาเซียนทั้ง 10 ชาติ และประเทศคู่ค้าอีก 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย จีน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยหลายฝ่ายมองว่า RCEP จะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่หลายประเทศต้องเผชิญกับเศรษฐกิจหดตัว และเป็นการขยายขอบเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก เปิดทางให้การลงทุนไหลเข้าประเทศสมาชิก โดย RCEP คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ของเศรษฐกิจโลก และเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศสมาชิก
 
ด้านนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ระบุว่า การลงนามร่วมกันในครั้งนี้เป็นก้าวที่สำคัญท่ามกลางช่วงเวลาที่ยากลำบาก และเป็นการส่งสัญญาณในการโปรโมตการค้าที่มีความเสรีในช่วงที่ประเทศต่างๆ ได้รับความกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมทั้งย้ำชัดว่ายังคงเปิดประตูให้อินเดียเข้าร่วมอีกครั้ง หลังจากที่อินเดียได้ถอนตัวจาก RCEP เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลว่าหากมีการเปิดเขตการค้าเสรี สินค้าจากจีนจะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ กระทบต่อสินค้าท้องถิ่น
 
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้ถูกมองว่าเอื้อผลประโยชน์ต่อจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสมาชิก แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ประเทศสมาชิกระบุว่า ถึงแม้จะเอื้อผลประโยชน์ต่อจีน แต่ชาติสมาชิกเองก็ได้ผลประโยชน์เช่นเดียวกัน และเป็นใบเบิกทางให้ธุรกิจของประเทศสมาชิกสามารถเจาะตลาดจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก
 
RCEP จะนำไปสู่การลดภาษีสินค้าลง 92 เปอร์เซ็นต์ และยังทำให้เกิดสิทธิพิเศษในการเจาะตลาดการส่งออก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการขนส่งและไหลเวียนของสินค้าที่จะเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่บริษัทต่างๆ จะสามารถขยายการให้บริการในภูมิภาค โดยความตกลงเศรษฐกิจดังกล่าวจะถูกเริ่มบังคับใช้หลังจากที่ประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีหลังจากนี้
 
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ ไร้เงาสหรัฐฯ :
 
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาเหนือรวมกันในครั้งนี้ ไร้เงาของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯภายใต้รัฐบาล นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP สวนทางกับจีนที่ในปีนี้ได้ลงนามใน RCEP เป็นอีกก้าวในการรุกตลาดอาเซียน เมื่อไร้คู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของอาเซียนไปโดยปริยาย
 
นอกจากนี้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังทำให้จีนหันมาให้ความสนใจกับอาเซียน และทำการค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจและตลาดสหรัฐฯ
 
อาเซียนเห็นพ้องหาทางออกข้อพิพาททะเลจีนใต้อย่างสันติ :
 
ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ถือเป็นวาระการประชุมที่ถูกจับตามองในการประชุมครั้งนี้ โดยชาติอาเซียนทั้ง 10 ชาติได้เห็นพ้องตรงกันในการรักษาความสงบบริเวณพื้นที่ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ปัญหาข้อพิพาทได้ถูกจุดชนวนขึ้นหลังจากที่จีนได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ราว 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ระบุว่า เรือสัญชาติจีนได้รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งในการประชุมอาเซียนครั้งที่ 37 นี้ ประเทศสมาชิกเห็นตรงกันว่าต้องมีการแก้ปัญหาอย่างสันติ และเป็นไปตามข้อบทกฎหมาย
 
ด้านนายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ซึ่งเป็นประธานในการประชุมปีนี้ ได้เน้นย้ำความสำคัญของการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 หรือ UNCLOS ซึ่งครอบคลุมสิทธิและข้อปฏิบัติทางทะเลของรัฐ และหวังว่าจะสามารถสรุปแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ COC ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศในเร็ววัน
 
พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในการค้าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก มีพื้นที่ประชิดกับน่านน้ำของจีน บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม
 
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)