อาร์เซ็ปหนุนอุตฯแห่งอนาคต ยึดยุทธศาสตร์ลงทุนภูมิภาค
หอการค้าไทยหนุนเปิดการเจรจาการค้าเสรี สร้างแรงจูงใจลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด -19
หลังจากที่ไทยลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) หรือ อาร์เซ็ป เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญของยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญที่จะจับจองห่วงโซ่การผลิตของโลกไว้ในกำมือ
อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภายหลังไทยลงนามในอาร์เซ็ปแล้ว เชื่อว่า จะช่วยสนับสนุนการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต(First S-Curve และ New S-Curve) ซึ่งเป็นเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยประเมินว่ากลุ่มประเทศที่จะเข้ามาลงทุนคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะเข้ามาลงทุนในอาเซียนแน่นอนในฐานะการผลิตใน 5 อุตสาหกรรมใหม่
โดยทั้ง ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่างมีความพร้อมในด้านต่างๆมากกว่าประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวีไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา เนื่องจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวียังมีความพร้อมในด้านต่างๆที่จำเป็นต่อการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบความพร้อมระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย พบว่า มาเลเซียมีความพร้อมเรื่องระบบโลจิสติกส์มากกว่าไทย เพราะมีการเชื่อมโยงท่าเรือ ขนส่งทางบก และทางอากาศ รวมทั้งต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะน้ำมันที่ราคาถูกกว่าไทย ขณะที่ไทยมีความพร้อมด้านบุคคลากร แรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ที่สำคัญเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็จะพิจารณาการลงทุนหลังจากมีอาร์เซ็ป
“ขณะนี้เราต้องเดินหน้าการเจรจาข้อตกลงการค้าต่างๆที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู) และเอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร(ยูเค) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มประเทศอียูและยูเคเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น”
กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนขอเสนอให้รัฐบาลเร่งเปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าในกรอบอื่นด้วยเช่น หุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี), เอฟทีเอไทย-อียู และเอฟทีเอไทย-ยูเค ซึ่งอยากให้แสดงท่าทีเปิดเจราเลยแต่ถ้าหากมีประเด็นใหม่ที่ไทยไม่พร้อมสามารถต่อรองขอยืดระยะเวลาการดำเนินการไปก่อน อย่างเช่น เวียดนามที่ขอยืดเวลาไปอีก10-20 ปี ในบางประเด็นที่ไม่พร้อม
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมใหม่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ(Growth engine)ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคที่เชื่อมโยงทั้งตลาดโลจิสติกส์และแรงงานช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ และการเพิ่มรายได้ของประชากรได้มากขึ้น
หอการค้าไทยจึงได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดงานNew S Curve :Season 2(Virtual conference) ในแบบออนไลน์ในช่วงปลายเดือนพ.ย. ซึ่งหอการค้าไทยในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการภาคเอกชนมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศทั้งจากภูมิภาคและสมาคมการค้ามีสมาชิกกว่า100,000ราย มีนโยบายในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยรวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องเป็นSupply Chainในกลุ่มอุตสาหกรรม10 S-Curveภายใต้ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2563