เดินหน้าหนุนเสรี การค้า-การลงทุน ฟื้นศก.ยุคโควิด

เดินหน้าหนุนเสรี‘การค้า-การลงทุน’ฟื้นศก.ยุคโควิด-19 โดยเอเปคซัมมิทเป็นหมากที่จะพลิกกระดานเขตเศรษฐกิจให้ตระหนักถึงระบบเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น สมดุลกับการพัฒนาทางสังคม มากกว่าเน้นการเติบโตของตัวเลข
 
มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 27 ผ่านระบบการประชุมทางไกลเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคและพิจารณาแผนงานต่าง ๆ ของเอเปค โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วม
 
ท่ามกลางสถานการณ์ชะงักงันทางธุรกิจ การเป็นชาตินิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงของผู้คน และห่วงโซ่มูลค่าโลกที่ถูกตัดขาด ส่งผลให้การประชุมผู้นำเอเปคปีนี้เน้นหนักไปที่การหารือเกี่ยวกับแนวทางรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และการลดผลกระทบของวิกฤติ ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขทั่วโลก
 
การประชุมครั้งนี้มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ มาเลเซียริเริ่มจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจเพื่อรับมือและฟื้นฟูธุรกิจ การรับรองปฏิญญาว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้เงินทุนสนับสนุนเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในการรับมือกับโควิด-19
 
นอกจากนี้ ผู้นำเอเปคยังย้ำว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนและอำนวยความสะดวกให้มีการเข้าถึงวัคซีน เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ในราคาที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
 
ประเด็นสำคัญที่ผู้นำเอเปคหารือในเรื่อง การพัฒนาบริบทการค้าและการลงทุน โดยปัจจุบัน เอเปคเดินทางมาถึงปลายทางเป้าหมายโบกอร์ ตามที่กำหนดให้สมาชิกเอเปคเปิดเสรีการค้าและการลงทุนให้สำเร็จภายในปี 2563 แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายโบกอร์ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเป้าหมายระยะยาว เรื่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ภายหลังได้พัฒนามาเป็นแนวคิดเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
 
ผู้นำเอเปคเห็นพ้องว่า ควรแปลงวิกฤติเป็นโอกาส โดยสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหลังยุคโควิด-19 ที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุข เพื่อความมั่งคั่ง กินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนและ คนรุ่นหลัง ที่ประชุมผู้นำเอเปคจึงได้รับรอง “วิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040” เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเอเปคในอีก 20 ปีข้างหน้า
 
พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำต่อผู้นำเอเปคว่า แม้บริบทของโลกในวันนี้จะแตกต่างจากเมื่อ 26 ปีก่อนที่เอเปครับรองเป้าหมายโบกอร์ มีการกลับมาของกระแสปกป้องทางการค้าและชาตินิยม ความท้าทายในระบบพหุภาคี แต่การค้าและการลงทุนยังคงเป็นหัวใจของเอเปค เป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภูมิภาค เอเปคต้องทำหน้าที่สำคัญ 3 ประเด็น คือ 
1). เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ต้องมีความพร้อมและเพิ่มการเข้าถึงดิจิทัลของประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSMEs ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบและการยกระดับขีดความสามารถ สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัลใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อโลก ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความมั่นคงปลอดภัยในโลกดิจิทัล
 
2).การเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึง สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมได้รับประโยชน์ที่จับต้องได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีสุขภาพและสุขภาวะ ในสังคมที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
 
และ3.สร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วต่าง ๆ ในโอกาสนี้ ไทยแสดงความพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับประชาคมระหว่างประเทศ
 
การประชุมครั้งนี้เป็นนัดแรกระหว่าง 21 ผู้นำสมาชิกเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นหมากสำคัญพลิกกระดานให้เขตเศรษฐกิจทั้งหลายตระหนักถึงความจำเป็นของการมีระบบเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและสมดุลกับการพัฒนาทางสังคมมากกว่ามุ่งเน้นการเติบโตของตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว
 
ผู้นำเอเปคยังเชื่อมั่นในการค้าการลงทุนเสรีและระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎระเบียบร่วมกัน และต้องการส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐบาล ธุรกิจ และประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งจะปฏิรูปเศรษฐกิจและการค้าโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
 
ในช่วงท้ายการประชุม นิวซีแลนด์ซึ่งรับไม้เจ้าภาพเอเปคต่อจากมาเลเซีย ในปี2564 ใช้โอกาสนี้ประกาศสานต่อประเด็นสำคัญๆ ภายใต้แนวคิดหลัก “Join, Work, Grow. Together.” เป็นการจัดผ่านระบบการประชุมทางไกลเต็มรูปแบบตลอดทั้งปี
 
สำหรับไทย จะรับตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือในปี 2565 พร้อมจะต่อยอดการให้ความสำคัญกับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมที่มาเลเซียและนิวซีแลนด์ผลักดัน โดยคำนึงถึงบริบทโลก แม้ว่าภาพขณะนี้ยังไม่ชัดเจน แต่อาจได้เห็นการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ ด้วยการหวนกลับสู่ระบบพหุภาคีของสหรัฐ ภายใต้ผู้นำคนใหม่ ขณะที่ความสำเร็จของอาร์เซ็ปปลุกกระแสรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการค้าพหุภาคีให้กลับมา พร้อมกับการเชื่อมโยงกันของคนและสินค้าทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อการทดสอบวัคซีนต้านโควิด-19 ประสบความสำเร็จ
 
ที่สำคัญไทยตั้งใจส่งเสริมประเด็นที่โลกให้ความสนใจหลังโควิด-19 เช่น การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การให้บริการด้านการแพทย์ ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร การส่งเสริมสุขภาวะ ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านนี้ และการส่งเสริมสุขภาวะมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563    
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)