เวียดนาม ผู้ชนะในเกมเศรษฐกิจ จากวิกฤตโควิด-19 เทรดวอร์และข้อตกลงการค้าโลก

เวียดนามถือได้ว่าเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นผู้ชนะที่แท้จริงจากวิกฤตโควิด-19 สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2018 รวมถึงความสำเร็จทางเศรษฐกิจจากการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ ทั้ง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership), CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) และ EVFTA (EU-Vietnam Free Trade Agreement) ในวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจเวียดนามยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาคต้องเผชิญความท้าทายอย่างมากในการฟื้นตัว ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ของเวียดนามขยายตัว 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในไตรมาส 3 และในไตรมาส 2 ที่การเติบโตของเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศทั่วโลกตกต่ำเป็นประวัติการณ์จากการปิดเมือง แต่เวียดนามก็ยังเติบโตได้ที่ 0.39% (YoY) ท่ามกลางการแพร่ระบาดทั่วโลก
 
 
กล่าวได้ว่าเวียดนามสามารถผ่านบททดสอบสำคัญในวิกฤตโควิด-19 ในรอบนี้ ทั้งยังเป็นผู้ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน และสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามเป็นสมาชิกได้อย่างแท้จริง ความน่าสนใจของเวียดนามในแต่ละประเด็นมีรายละเอียด ดังนี้
 
ประเด็นที่หนึ่ง สำหรับวิกฤตโควิด-19 เวียดนามค่อนข้างประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ในปี 2020 ทั้งที่เวียดนามมีพรมแดนติดกับจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบการแพร่ระบาด ความสำเร็จของเวียดนามมาจากมาตรการที่รัดกุม แม้รัฐบาลพรรคเดียวของเวียดนามจะเป็นผู้ออกคำสั่งเพียงฝ่ายเดียว แต่ชาวเวียดนามก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างดี เพราะตระหนักว่าทางการพยายามทำทุกอย่างเพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง เนื่องจากทั้งรัฐบาลและประชาชนทราบดีว่า หากเกิดการระบาดหนักในประเทศ ระบบสาธารณสุขจะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ จึงทำให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ซึ่งทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในเวียดนามค่อนข้างต่ำ เทียบเคียงได้กับประเทศไทย มาเลเซีย ไต้หวัน และนิวซีแลนด์
 
เวียดนามมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ราว 1,300 รายเท่านั้น (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2020) และผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่สูง จากการเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นกลับมาได้เร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผลให้ผลกระทบต่อตลาดแรงงานมีจำกัด และการใช้จ่ายของผู้บริโภคภาพรวมยังแข็งแกร่ง
 
ล่าสุด รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าการเติบโตในปี 2020 ที่ 2.5-3% และราว 6.5-7% ในปี 2021-2025 การฟื้นตัวที่รวดเร็วของเวียดนามจากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดสองระลอกในเดือนมีนาคมและกรกฎาคม แรงหนุนทางการคลังจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากธนาคารกลางเวียดนาม จะช่วยให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายการเติบโตในระยะต่อไปได้
 
ประเด็นที่สอง ด้านสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีห่วงโซ่การผลิตกับจีน ต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันของสหรัฐฯ-จีน ในช่วงปี 2018-2019 แต่เวียดนามเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่ผลบวกดูจะมากกว่าผลลบ เนื่องจากเวียดนามสามารถส่งออกสินค้าทดแทนไปยังสหรัฐฯ และจีนได้เพิ่ม ในขณะที่สองชาติมหาอำนาจกำลังห้ำหั่นกันด้วยสงครามภาษี ทั้งบริษัทข้ามชาติ เช่น Samsung Electronics ฯลฯ ได้ย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีทักษะ แต่ต้นทุนค่าแรงต่ำเพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งทำให้การส่งออกของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตและฟื้นตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากปัจจัยเฉพาะจากโครงสร้างสินค้าส่งออกที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ แท็บเล็ต รวมถึงการวางกลยุทธ์ในห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ด้วยโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยี และมีการค้ากับจีนที่ตลาดผู้บริโภคก็ยังมีการเติบโตดี จากความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกของเวียดนาม ทำให้คาดการณ์การส่งออกปี 2020 ของเวียดนามจะยังเติบโตราว 3-4% แม้จะชะลอลงจากการเติบโตเฉลี่ยราว 10% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
 
ประเด็นที่สาม ความสำเร็จและความได้เปรียบจากการที่เวียดนามเป็นสมาชิกในข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญขนาดใหญ่ของโลกทั้ง RCEP และ CPTPP รวมถึง EVFTA ซึ่งหากรวมกับ FTA เดิมที่เวียดนามมีอยู่แล้ว จะทำให้เวียดนามมี FTA รวมถึง 16 ฉบับ ครอบคลุมการค้าเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก จึงไม่แปลกใจที่บรรษัทข้ามชาติจะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงฐานการผลิตเพื่อตอบสนองชนชั้นกลางในเวียดนามที่เติบโตต่อเนื่อง
 
อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกของเวียดนามที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้จะนำไปสู่ความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม จากการที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ประกาศเปิดการสอบสวนเกี่ยวกับการบิดเบือนค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ตามมา หากเวียดนามถูกตัดสินว่ามีความผิด (กระบวนการเดียวกันในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนตั้งแต่ปี 2018) และอาจทำให้เวียดนามเผชิญความเสี่ยงด้านการส่งออกอยู่บ้าง แต่กระบวนการสอบสวนยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะและสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นตลาดส่งออกหลักเดียวของเวียดนาม แต่ยังมีทั้งสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงคาดว่าผลกระทบในระยะสั้นอาจไม่สูงนักและการส่งออกยังคงสดใสจากการที่อยู่ในสถานะเศรษฐกิจชายขอบ (Frontier Market) ซึ่งได้ประโยชน์ด้านการเข้าถึงตลาดใหม่ โดยเฉพาะภาษีนำเข้าคู่ค้าที่จะลดลง
 
จากความสำเร็จของเวียดนามใน 3 ประเด็นข้างต้น ยิ่งส่งผลให้การเติบโตของเม็ดเงินการลงทุนในฝั่งตลาดหลักทรัพย์ของเวียดนามเริ่มเด่นชัดมากขึ้น สำหรับการจัดกลุ่มประเทศตามเกณฑ์ MSCI Index จากบริษัท Morgan Stanley Capital International (MSCI) ที่ทำดัชนีอ้างอิงราคาหลักทรัพย์ชั้นนำทั่วโลก ได้จัดเวียดนามอยู่ในกลุ่ม Frontier Markets โดยหากดูจากสัดส่วนน้ำหนักของตลาดเวียดนามในปัจจุบันจะอยู่ที่ราว 15.8% ในดัชนีฯ
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน MSCI จะเริ่มปรับสัดส่วนน้ำหนักในดัชนี MSCI Frontier 100 Index ใหม่ ซึ่งจะปรับประเทศคูเวตออกเพื่อเอาเข้ากลุ่ม Emerging Market (EM) แทน ทำให้เวียดนามจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในดัชนีเป็นราว 28.8% ซึ่งการปรับน้ำหนักตามเฟสของ MSCI จะเริ่มส่งผลตั้งแต่ปี 2021 จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเข้าของ Passive Flow เข้าตลาดหลักทรัพย์เวียดนามต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ จึงทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจมากที่สุดในกลุ่ม Frontier Markets มากไปกว่านี้ รัฐบาลเวียดนามยังได้ตั้งเป้าหมายในการยกระดับตลาดหลักทรัพย์เวียดนามสู่กลุ่ม EM (EM Reclassification) ภายในปี 2023 ซึ่งจะยิ่งช่วยปลดล็อกศักยภาพในการเติบโตของดัชนีหุ้นเวียดนามที่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนอย่าง VNINDEX (Vietnam Ho Chi Minh Stock Index) และตลาดหลักทรัพย์เวียดนามทั้ง Ho Chi Minh Exchange (มีหุ้นอยู่ราว 400 บริษัท) และ Hanoi Stock Exchange (มีหุ้นอยู่ราว 350 บริษัท) ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงถือได้ว่าเป็นผู้ชนะที่แท้จริงทั้งในเกมเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งยังเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจต่อเนื่องของนักลงทุน
 
ประมาณการการปรับสัดส่วนน้ำหนักในดัชนี MSCI Frontier 100 Index
โดย ดร.ธนพล ศรีธัญพงศ์
 
ที่มา The Standard
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)