ผู้ส่งออกแห่ซื้อประกัน ลดเสี่ยง “บาทแข็ง” ยาว

กรุงศรีฯส่องค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องถึงปีหน้าแตะ 29.25 บาทต่อดอลลาร์ สวนทางดอลลาร์อ่อนต่อเนื่อง ด้านผู้ส่งออกแห่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินพุ่งทะลุ 70% เพิ่มขึ้นในรอบ 2 ปี
 
นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่าแนวโน้มค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง และปรับทิศทางรวดเร็ว จากอ่อนค่ากว่า 8.63% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มาเป็นแข็งค่า 4.1% ในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเฉพาะเดือนพ.ย.ที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากการที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
 
ปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ราว 30.25 บาทต่อดอลลาร์ และคาดว่าสิ้นปีน่าจะเคลื่อนไหวระดับนี้ และไม่หลุดระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนปี 2564 คาดว่า ค่าเงินบาทจะหลุดระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ไปแข็งค่าสุดที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทถึง 70-80% ขณะที่อีก 30% เป็นการเคลื่อนไหวตามปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะนโยบายของสหรัฐ ที่มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ดอลลาร์อยู่ในทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากสหรัฐจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายขนาดใหญ่และพยายามตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำมากเป็นระยะเวลานาน
 
“บาทแข็งเพราะแนวโน้มดอลลาร์อ่อนค่า และเรายังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่การเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินมองไม่ชัดเจนนัก และแม้บาทแข็งค่าขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้แข็งค่าสุดในภูมิภาค ดังนั้นหากจะออกมาตรการเพิ่ม หรือกระตุกตรงนี้ อาจต้องคิดให้ดี เพราะวันนี้ที่ต่างชาติไหลกลับเข้ามาลงทุนอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด" 
 
อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ส่งผลให้ผู้ส่งออกเป็นลูกค้าของธนาคารกรุงศรีฯ หันมาป้องกันกันความเสี่ยงค่าเงินบาทมากขึ้น ทำให้สัดส่วนการทำประกันปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 70% ซึ่งสูงกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือหากเทียบกับช่วงปลายปี 2562 ที่การทำประกันอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50% เท่านั้น
 
สะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจมีการตื่นตัวในการรับมือกับการแข็งค่าของเงินบาท และต้องการลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลาง ที่มียอดขายอยู่ที่ 150-1,000 ล้านบาท ที่หันมาป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาทเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มีการใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น สะท้อนว่านักลงทุนสนใจในการหันมาลดความเสีนหายจากการทำธุรกิจ ที่มาจากผลกระทบค่าเงินบาท หากเทียบกับก่อนหน้านี้ ที่ส่วนใหญ่ธุรกิจขนาดเล็กมีการป้องกันความเสี่ยงค่อนข้างต่ำมาก 
 
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ออกมาช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ถือว่าเป็นมาตรการระยะสั้นที่ออกมาเพื่อดูแลในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน และเป็นเครื่องมือที่ธปท.ออกมาเพื่อจำแนกระหว่างเม็ดเงินที่เข้ามาเพื่อเก็งกำไรหรือเข้ามาลงทุนในระยะยาว เป็นเพียงเครื่องมือระยะสั้นตามที่ธปท.มีอำนาจหน้าที่ทำได้
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
ภาพ Padshipping
วันที่ 2 ธันวาคม 2563 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)