หอการค้าต่างประเทศ ชง BOI ผ่อนปรนกักตัวเปิดรับนักธุรกิจ
“สุพัฒนพงษ์” ถกหอการค้าต่างประเทศ หารือผ่อนปรนเปิดประเทศรับนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ลดเวลากักตัว เปิดช่องกักตัวในโรงงานได้ นายกฯ ประชุม ศบค.หารือแนวทางกำหนดมาตรการเคาท์ดาวน์ปีใหม่
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หารือกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย (JFCCT) โดยมีตัวแทนหอการค้าต่างประเทศ 35 คน เข้าร่วมหารือเพื่อเสนอปัญหาอุปสรรคการทำธุรกิจในไทยวานนี้ (16 ธ.ค.)
นายสแตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า หอการค้าร่วมต่างประเทศได้แจ้งปัญหาและอุปสรรคการลงทุนในไทย โดยได้เสนอแนวทางส่งเสริมการลงทุนในไทย 4 ข้อ ประกอบด้วย
1).การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ต้องกักตัว 14 วันในสถานที่สำหรับเป็นที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (Alternative State Quarantine) ซึ่งต้องการให้มีการปรับให้เหมาะสม เช่น นักธุรกิจที่เดินทางมาเจรจาธุรกิจต้องกักตัว 14 วันหากลดลงก็คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น
รวมทั้งในกรณีที่เครื่องจักรในโรงงานมีปัญหาต้องให้ช่างทางเทคนิคจากต่างประเทศเข้ามาแต่ต้องกักตัว 14 วัน อาจส่งผลกระทบต่อการผลิต ซึ่งอาจปรับลดเวลาหรือกักตัวอยู่ในโรงงานที่สามารถสั่งงานได้ เป็นต้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยถือว่ามีมาตราการในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ดีอยู่แล้ว
2).การดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะการขอให้เร่งเปิดให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจบริการ โดยไม่ต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทยภายใต้บัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างแรงงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทยได้
3).การปรับระบบระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น
4).การปรับกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น การขอวีซ่าพิเศษของนักธุรกิจต่างชาติเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้ามาติดต่อดำเนินธุรกิจ หรือสมาร์ทวีซ่า ซึ่งจะช่วยทำให้การนำผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาปฏิบัติงาน ในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
รวมถึงการขอใบอนุญาต Work permit ในการเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น โดยการปรับปรุงให้มีความสะดวกรวดเร็วจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนได้เป็นอย่างดี
“การพบหารือในครั้งนี้ถือเป็นที่ดีที่ได้พบปะหารือถึงปัญหาต่างๆเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน” นายสแตนลี่ย์ กล่าว
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การประชุมครั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดขึ้นมาทุกปีเพื่อรับฟังความเห็นของนักธุรกิจต่างประเทศที่ลงทุนในไทย โดยจะนำข้อเสนอที่ได้รับจากหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทยไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า นายสุพัฒนพงษ์ ได้รับฟังข้อเสนอของหอการค้าต่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคของนักลงทุนที่เกิดขึ้นหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมด้านการลงทุนไม่สามารถทำได้ตามปกติ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รวมทั้งมีความชัดเจนเรื่องวัคซีนโควิด-19 ไทยจึงพร้อมขับเคลื่อนการลงทุนด้วยการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างประเทศ
“ที่ผ่านมาทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และไทยก็เช่นกัน แต่บริหารจัดการสถานการณ์ได้ค่อนข้างดีทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว และมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาต่อเนื่อง ไทยจึงพร้อมรองรับการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวได้เร็ว” นางสาวดวงใจ กล่าว
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือน มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 657 โครงการ ลดลง 1% โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 118,504 ล้านบาท ลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับประเทศญี่ปุ่น มีการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 139 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 37,545 ล้านบาท ตามด้วยจีน จำนวน 129 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 21,237 ล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ จำนวน 62 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 17,514 ล้านบาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 17 ธันวาคม 2563