สรท. คาดส่งออกไตรมาส 1/2564 ยังไม่ฟื้น จับตาโควิดระลอกใหม่

สรท. คาดส่งออกไตรมาส 1/2564 ยังไม่ฟื้น จับตาโควิดระลอกใหม่ จี้รัฐสนับสนุนผู้ประกอบการสู้ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า อนุมัติสินเชื่อSoft loan ต่ออีก 6 เดือน เยียวยาค่าน้ำไฟประชาชน
 
วันที่ 5 มกราคม 2564นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวลดลงระหว่าง -7% ถึง -6% และคาดการณ์ ปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% (ณ เดือน ม.ค. 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 คือ 1) สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง
 
โดยการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,932 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -3.65% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 585,911 ล้านบาท หดตัว -0.65% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -0.99% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 592,369 ล้านบาท ขยายตัว 1.98% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน
 
ส่งผลให้ เดือนพฤศจิกายน 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 52.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 6,458 ล้านบาท
ดังนั้นภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- พ.ย. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 211,385 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -6.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 6,575,690 ล้านบาท หดตัว -6.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งปรุงรสอาหาร ผัก ผลไม้ สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป  ส่วนสินค้ากลุ่มที่หดตัว คือ น้ำตาลทราย อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว -2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY)
 
ขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ ทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว
 
ขณะที่การส่งออก 11 เดือน แรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว -4% สินค้าอุตสาหกรรม หดตัว -6.6%
 
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 มีทั้งการกลับมาระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศ สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ของประเทศคู่ค้าทั่วโลกกลับมามีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร รวมถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และภายในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อกิจกรรมการผลิต จากการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์และการหดตัวลงของกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าทั่วโลก
 
ส่วนการผลิตและการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆทั่วโลก อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรจนกว่าจะจัดสรรไปยังประเทศต่างๆ ในส่วนของไทยวัคซีนชุดแรกน่าจะมาถึงช่วงกลางปี 2564 หรือเร็วกว่านั้นเล็กน้อย ทั้งนี้จะมีการเริ่มวัคซีนให้ในกลุ่มที่จำเป็นก่อนและอาจต้องใช้เวลาในการให้วัคซีนครอบคลุมคนส่วนใหญ่
 
“โดยเฉพาะ แรงงานต่างด้าวขาดแคลน จากการระบาดในพื้นที่อุตสาหกรรมประมงแปรรูปขนาดใหญ่ ในจังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต ค่อนข้างมาก รวมถึงแรงงานในอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวในช่วงเวลานี้
 
รวมทั้ง ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร”
 
สำหรับ ปัจจัยในประเทศที่สำคัญคือ ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มจับตาใกล้ชิด (Monitoring List) โดยเฉพาะประเด็นการเป็นประเทศที่อาจแทรกแซงค่าเงินจากรายงานด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯ
 
ดังนั้น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ
 
1. มาตรการเร่งด่วนภายใน 2 เดือน โดยมีมาตรการรองรับสถานการณ์โควิดรอบใหม่ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือต่ออายุมาตรการที่ออกมาในช่วงโควิด-19 ระบาดในรอบแรก อาทิ ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการติดต่อหน่วยงานราชการ ขยายระยะเวลาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ขยายระยะเวลาการชำระภาษี ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ปรับลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ)
 
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ รวมถึงขอให้ ธปท. เร่งออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยผู้ประกอบการ อาทิ ขอให้ ธปท. เพิ่มบทบาทธนาคารรัฐในการอนุมัติสินเชื่อมาตรการ Soft loan ให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนพ.ร.ก. softloan ธปท.ได้มีต่ออายุมาตรการไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 18 เมษายน 2564 และการปรับปรุงกฎเกณฑ์บางส่วนในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs มากขึ้น 2.เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน
 
ส่วน มาตรการระยะยาว ขอให้รัฐบาลมีมาตรการรองรับสถานการณ์โควิดรอบใหม่ 1. รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีแรงงานว่างงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรง 2. เร่งรัดการพัฒนาไปประเทศไปสู่ Digital economy 3. ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำหรับการวางแผนธุรกิจและการลงทุน และ เร่งเจรจาบังคับใช้ความตกลง RCEP ภายในปี 2564 รวมถึงเร่งเจรจาความตกลงที่อยู่ในแผน อาทิ  ไทย-อังกฤษ ไทย-สหภาพยุโรป อาฟต้า ปากีสถาน ตุรกี
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 มกราคม 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)