หอการค้าจับมือรัฐสกัดโควิด-19 เข้มสุขอนามัยใน ห่วงโซ่ประมง
ภาพห่วงโซ่ อุตสาหกรรมประมง ปนเปื้อนโควิด3 -19เริ่มเด่นชัดมากขึ้นเมื่อพนักงานโรงงานผลิตปลากระป๋อง แหล่ง จ. สมุทรสาคร ตรวจพบติดเชื้อจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หอการค้าไทยจึงร่วมกับกรมประมงหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าฯ จะร่วมกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยและกรมประมง แถลงข่าว ในวันที่ 8 ม.ค. นี้ ณ หอการค้าไทย ถนนราชบพิธ หัวข้อแนวทางแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของห่วงโซ่ การประมงไทย
“ขณะนี้มีกระแสข่าวการระบาดของโรคโควิด เยอะมากใน จ .สมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมประมง มีทั้งข่าวจริงและเท็จ จำเป็นต้องแถลงข้อมูลที่ถูกต้อง โดยความร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน”
มีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การปนเปื้อนโควิดในสินค้าประมง นั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่ที่กังวลกันมากคือการปนเปื้อนในบรรจุภัณฑ์ ที่เกิดจากพนักงานที่ติดเชื้อโควิด ดังนั้นที่ผ่านมากรมประมงจึงแจ้งให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมใส่ใจในปัญหานี้
โดยให้เพิ่มความเข้มงวดด้านสุขลักษณะของพนักงานให้มากขึ้น ทั้งการวัดไข้ ล้างมือให้สะอาด ส่วนยานพาหนะ ต้องฉีดพ่นล้างอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการเข้าและออกจากโรงงาน
นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น กรมประมง ได้มีการออกมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนควิด-19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ คือ ผู้ประกอบการกระบวนการผลิต : เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์มต้องขึ้นทะเบียนและได้มาตรฐานจากกรมประมง ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง และการปฏิบัติงาน ล้างทำความสะอาดยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์น้ำ ทั้งภายในและภายนอกห้องบรรจุสัตว์น้ำด้วยคลอรีน ขณะเข้าและออกจากฟาร์ม ผู้ขับขี่ยานพาหนะบรรทุกสัตว์น้ำ ต้องตรวจคัดกรองและสวมหน้ากากตลอดเวลาเช่นเดียวกับบุคลากรในฟาร์ม
ส่วนชาวประมง/เรือประมงทุกคนต้องผ่านการคัดกรองจากศูนย์แจ้งเข้า-ออก เรือประมงตามมาตรการของกรมประมง ทำความสะอาดส่วนที่สัมผัสกับสัตว์น้ำอยู่เสมอ สวมถุงมือและสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ห้ามออกนอกสะพานปลา ท่าเทียบเรือ ขณะขนถ่ายสัตว์น้ำที่ท่าเทียบเรือหรือสะพานปลา
ผู้ประกอบการกระบวนการลำเลียงและขนส่งสัตว์น้ำ ล้างและทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับ ลำ เลียง หรือขนส่งสัตว์น้ำก่อน-หลัง ใช้ทุกครั้ง ฉีดพ่น ทำความสะอาดยานพาหนะที่ใช้ในการลำเลียง หรือขนส่ง ก่อน-หลัง ทุกครั้ง โดยประสานกรมปศุสัตว์หรือภาคเอกชนช่วยดำเนินการ พร้อมทั้งควบคุมไม่ให้มีการปนเปื้อนระหว่างการขนส่ง เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการลำเลียง คัดแยก และขนส่งสัตว์น้ำ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ และมีระยะห่างในการปฏิบัติงานในระยะที่เหมาะสม
ผู้ประกอบการสะพานปลา (องค์การสะพานปลานำร่อง) ปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัยท่าเทียบเรือ สะพานปลา คัดกรองบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ทุกรายเป็นประจำทุกวัน ทำความสะอาดสถานที่ด้วยคลอรีนทุกวัน พาหนะบรรทุกสัตว์น้ำที่เข้า-ออก ต้องลงทะเบียน และฉีดพ่นด้วยคลอรีน โดยต้องทำความสะอาดทั้งภายในและภายนอกห้องบรรจุสัตว์น้ำ ก่อนการบรรจุสินค้าสัตว์น้ำ
ผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade ปฏิบัติตามข้อกำหนดร้านค้าของสาธารณสุข ทำความสะอาดพาหนะที่ขนส่งสินค้า ณ จุดจอด ก่อนมีการขนถ่ายเข้าสู่สถานประกอบการด้วยคลอรีน แยกสัตว์น้ำแต่ละประเภท ล้างทำความสะอาด และบรรจุในถุงพลาสติกก่อนวางบนน้ำแข็ง เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์น้ำ สุ่มตรวจการปนเปื้อนของไโควิด-19 เป็นระยะตามความเหมาะสม
วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันการอุตสาหกรรมประมงของไทยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ แต่หลังจากที่พบการระบาดของโควิดรอบ2 โดยเฉพาะพื้นที่จ.สมุทรสาคร ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมประมงตั้งอยู่จำนวนมากนั้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องตรวจหาผู้ติดเชื้อที่เป็นพนักงาน ในเชิงรุก แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ถือว่าเป็นเรื่องดีทั้งกับตัวผลิตภัณฑ์ที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัยแน่นอน และกับตัวพนักงงานเองที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ในส่วนของกรมประมง
สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำ ทั้งแหล่งวัตถุดิบ และแหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ซึ่งมั่นใจว่าหากทุกภาคส่วนร่วมใจกันแก้ปัญหาอุตสาหกรรมทั้งห่วงโซ จะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 มกราคม 2564