จีนลดระบายน้ำเขื่อนจิ่งหง ทำระดับน้ำแม่น้ำโขงไทย-ลาว-กัมพูชาลดยาวตลอดเดือน ม.ค.
การไหลออกของน้ำจากเขื่อนไฟฟ้าจิ่งหง ในมณฑลยูนนานของจีน กำลังลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในไทย ลาว และกัมพูชา ลดลงเช่นกัน ตามการแถลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)
สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้รับแจ้งจากกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ว่า การบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าของโครงข่ายไฟฟ้าจะเป็นผลให้การไหลของน้ำลดลงเหลือ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระหว่างวันที่ 5-24 ม.ค.
ปริมาณการไหลของน้ำจะค่อยๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติในวันที่ 25 ม.ค. แต่กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนไม่ได้ระบุถึงระดับน้ำหรือปริมาณน้ำที่จะกลับคืนสภาวะปกติในวันที่ 25 ม.ค. แต่อย่างใด
เขื่อนจิ่งหงเป็นหนึ่งใน 11 เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่จีนมีบนแม่น้ำโขง
ตามข้อมูลเขื่อนจิ่งหง ของ MRC จนถึงวันที่ 4 ม.ค. ระดับการไหลออกของน้ำเริ่มลดลงจาก 1,410 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในวันที่ 31 ม.ค. เป็น 768 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในวันที่ 1 ม.ค. ซึ่งลดลงเกือบ 50% ก่อนจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 786 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีระหว่างวันที่ 1-4 ม.ค.
“จากเหตุดังกล่าวเป็นผลให้ระดับน้ำตามแม่น้ำโขงมีแนวโน้มที่จะลดลงประมาณ 1.20 เมตร” คำแถลงระบุ
สถานีตรวจระดับน้ำและปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ห่างจากเขื่อนจิ่งหงราว 300 กิโลเมตร ระดับน้ำลดลงราว 2 เมตร ระหว่างวันที่ 2-4 ม.ค. ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงเวียงจันทน์ไปจนถึงปากซันในลาว และหนองคายของไทย จะลดลงราว 0.22-0.35 เมตร ระหว่างวันที่ 7-11 ม.ค. ขณะที่แม่น้ำโขงช่วงนครพนมไปจนถึงปากเซของลาว ระดับจะลดลงราว 0.03-0.15 เมตร ระหว่างวันที่ 8-11 ม.ค.
แต่อย่างไรก็ตาม ระดับของแม่น้ำโขงในกัมพูชา ที่ จ.สตีงเตรง จ.กระแจะ จ.กำปงจาม กรุงพนมเปญ และเนียกเลือง คาดว่าจะไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นน้อยในกัมพูชา และไม่ส่งผลถึงปลายน้ำในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม
ดร.ลัม ฮุน สง หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งของ MRC ระบุว่า การเดินเรือในแม่น้ำอาจได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ใกล้กับเขื่อนจิ่งหงจะได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่อื่น ส่วนกิจกรรมหาเลี้ยงชีพบางอย่าง เช่น การเก็บสาหร่ายน้ำจืด และการจับปลา อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน
ภายใต้ข้อตกลงระหว่างจีนและ MRC นั้น จีนได้ให้คำมั่นที่จะแจ้งต่อ MRC และประเทศสมาชิกเกี่ยวกับ “ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติ หรือการปล่อยน้ำ และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่น้ำท่วมฉับพลัน”
ประเทศที่อยู่ปลายน้ำได้เผชิญกับสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ในปี 2562 และปี 2563 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดคำถามว่าเขื่อนที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายหลักในจีนและลาวนั้นส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำอย่างไร ซึ่ง MRC ได้แสวงหาข้อมูลน้ำตลอดทั้งปี เพื่อนำมาช่วยวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การไหลของน้ำอยู่ในระดับต่ำ
ผู้คนราว 60 ล้านคน พึ่งพาแม่น้ำโขงเพื่อการทำประมงและเกษตรกรรมในไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 7 มกราคม 2564