หอการค้าไทย ชง 3 ข้อเสนอแก้ปัญหาโควิดรอบสอง
หอการค้าไทย พร้อมให้ความร่วมมือรัฐแก้ปัญหาการแพร่ระบาโควิด-19 อย่างเร่งด่วน แนะแยกคนติดเชื้อให้ชัดเจน จี้รัฐสื่อสารให้ชัดเจนสร้างความเข้าให้ให้ตรงกัน หนุนใช้แอปหมอชนะ ไม่มั่นใจสถานการณ์คลี่คลายเมื่อใด
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าฯได้มีการหารือกับสมาชิกเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของแรงงานต่างด้าวที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่มากจำเป็นต้องรีบตรวจและแยกคนที่ติดเชื้อ คนที่มีความเสี่ยง และคนที่ยังไม่ติดเชื้อออกจากกัน และการตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบไม่มีแผนรองรับที่ชัดเจนจะเกิดปัญหาตามมา
ทั้งนี้ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและมีข้อเสนอแนะ คือ
1). ควรตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันวางแผนระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดแผนการทำงานร่วมกันและสามารถระดมกำลังและทรัพยากรในการจัดการปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์
รวมถึงการสื่อสารและแถลงข่าวต้องบริหารจัดการข้อมูลให้เป็น single messageเพราะส่งผลกับความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ไม่ให้ประชาชนสับสน
“ที่ผ่านมาการสื่อสารของรัฐให้กับประชาชนยังมีความสับสน รัฐมนตรีบางคนก็ออกมาพูดว่าจะล็อคดาวน์ แต่สักพักก็มีรัฐมนตรีหรือคนในรัฐบาลออกมาพูดว่าไม่มีการล๊อคดาวน์ การสื่อสารแบบไปคนละทางก็ยิ่งทำให้ทุกคนสับสนกับมาตรการของรัฐ จึงขอให้รัฐบาลจัดการเรื่องของการสื่อสารให้เป็นไปทางเดียวกัน”
2). ผู้ประกอบการหลายรายในสมุทรสาครมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวด้วยตนเองตั้งแต่การตรวจผู้มีเชื้อ ทั้งการตรวจแบบ rapid test และ PCR การใช้วิธีการทดสอบเพื่อหาผู้รับเชื้อ แบบrapid Test จะช่วยได้มาก ทั้งเรื่องต้นทุนและความรวดเร็ว ดังนั้นภาครัฐควรเร่งอนุมัติการตรวจ rapid testว่าแบบใด สามารถรับรองผลตรวจได้ การกักพื้นที่ในเขตควบคุม local quarantine จนกระทั่งมีภูมิต้านทาน ควรดูแลผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงตามประเภทของชุมชนและอัตราการติดเชื้อ หลังจากการตรวจเชิงรุกตามชุมชน เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องหาสถานที่ในการแยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ เพื่อลดการแพร่เชื้อ และการติดเชื้อซ้ำ เช่น การแบ่งแยกชั้นการพักอาศัย หรือจำกัดบริเวณชัดเจนในที่พักอาศัย เป็นต้นซึ่งภาครัฐสามารถสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ดำเนินการช่วยดูแลแรงงานของตนเองได้ โดยภาครัฐควรช่วยสนับสนุนค่าตรวจ หรือใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผู้ประกอบการ
3). มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อของแรงงานต่างด้าว ควรต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออย่างถาวรดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว
สำหรับการที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกัน ใช้แอพลิเคชั่น หมอชนะ นั้น เห็นว่าจะช่วยให้สามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการลดการกรอกเอกสารหากการเดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพราะสามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อแบบอัตโนมัติ หากไปยังสถานที่เสี่ยงหรือพบปะผู้มีความเสี่ยง ซึ่งประชาชนที่ไม่มี SMART PHONE ก็สามารถใช้วิธีอื่นในการบันทึกได้
“ประเทศสิงคโปร์มีการระบาดโควิดรอบสองจากแรงงานต่างด้าว ซึ่งประเทศสิงคโปร์มีแรงงานต่างด้าว 3 แสนคน กว่าจะควบคุมสถานการณ์และแก้ไขได้ก็ใช้เวลา 8 เดือน แต่ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าว เป็นล้านคน ก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลาในการแก้ปัญหากี่เดือน แต่ประเมินว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดรอบสอง ในภาคตะวันออกน่าจะคลี่คลายลงได้ หลังจากภาครัฐมีมาตรการคุมเข้ม ซึ่งภาคเอกชนพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐทำงานบูรณาการ กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกับ ขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และทางหอฯจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง”
นายกลินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ได้ตั้งโรงพยาบาลสนาม "ศูนย์ห่วงใยคนสาคร" จำนวน 7 ศูนย์ฯ ขึ้นเพื่อรองรับผู้ที่ต้องอยู่ในการเฝ้าระวังอาการและกักกันตัว จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมที่ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 3,142 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มกราคม 2564)
หอการค้าไทย โดย “มูลนิธิพาณิชย์สงเคราะห์” จึงขอเชิญชวนมายังทุกท่าน ร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดสร้างห้องน้ำสำเร็จรูป (Modular Bathroom) ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อมอบให้กับผู้ที่อยู่ในการเฝ้าระวังและต้องกักตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ณ "ศูนย์ห่วงใยคนสาคร" โดยสามารถโอนเงินที่บัญชี "มูลนิธิพาณิชย์สงเคราะห์"ธนาคารกสิกรไทย สาขาเสาชิงช้า ออมทรัพย์ 004-2-39457-2(เงินบริจาค สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 มกราคม 2564