ดีซอมบรี เสนอโอกาสนักลงทุนไทย แม้การเมือง สหรัฐ วุ่นวาย

เอกอัครราชทูต "ดีซอมบรี" เสนอโอกาสนักลงทุนไทย แม้การเมือง "สหรัฐ" ยังอยู่ในความวุ่นวาย และกำลังเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ โดย "โจ ไบเดน" จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันพรุ่งนี้
 
ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์แบบเสมือนจริง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (14 ม.ค.) ในหัวข้อ “เลือกสหรัฐ : ช่วยบริษัทไทยก้าวไกลไปทั่วโลก” (SelectUSA: Help Thai Companies Go Global) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับไทย โดยมีผู้นำภาคธุรกิจและการเงิน ร่วมสนทนาเพื่อช่วยเหลือบริษัทไทยในการขยายธุรกิจไปยังสหรัฐ และทั่วโลก
 
เอกอัครราชทูตดีซอมบรี เป็นผู้ดำเนินรายการสัมมนา โดยได้เชิญวิทยากรประกอบด้วยผู้บริหารองค์กรชั้นนำของไทยจากหลากหลายอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน), บุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจสหรัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์, ชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน), ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 
 
วิทยากรได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการลงทุนในสหรัฐ ซึ่งนักลงทุนไทยที่มีธุรกิจในสหรัฐ ต่างมีมุมมองในแง่ดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ขณะนี้จะมีความแตกแยกทางการเมืองที่เป็นเหตุนำไปสู่การจลาจลกลางกรุงวอชิงตันในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
 
งานสัมมนาที่กรุงเทพฯ จัดขึ้นหลังจากกลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์บุกอาคารรัฐสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564 ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสกำลังจัดประชุมรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า การบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลทรัมป์ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นการส่งเสริมความเป็นชาตินิยม บ่อนทำลายองค์กรพหุภาคี เช่น องค์การการค้าโลก เพื่อทรัมป์จะได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงพรรคการเมืองที่เป็นผู้ไม่พอใจกับกระแสโลกาภิวัตน์ 
 
เอกอัครราชทูตดีซอมบรียืนยันว่า ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่จะไม่ขยายเพิ่มไปจากเดิม อันจะส่งผลความท้าทายต่อธุรกิจไทย และประเทศอื่นๆที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐ
 
"ส่วนตัวมองว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆของฝ่ายบริหาร อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายอย่างแน่นอน แต่สหรัฐเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลก แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ" เอกอัครราชทูตสหรัฐ ระบุ
ชาติศิริ จากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีสาขาอยู่ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า โลกภิวัตน์จะยังคงดำเนินต่อไป รวมไปถึงความเป็นภูมิภาคนิยมกับท้องถิ่นนิยมยังดำเนินควบคู่กันไปเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมกับชี้ว่า ห่วงโซ่อุปทานอาจเปลี่ยนแปลง แต่ในภาพรวมเป็นผลบวกต่อประเทศไทย และหลายประเทศในอาเซียน  
 
ด้าน บุญชัย กล่าวย้ำว่า กลุ่มซีพีเป็นนักลงเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว ซึ่งการลงทุนของซีพีจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศที่เข้าไปลงทุน ชุมชน และผู้ถือหุ้นของบริษัท
 
"ซีพีเห็นศักยภาพของการขยายตลาดกุ้งในสหรัฐ ซึ่งเมื่อปี 2559 กลุ่มซีพีได้ทำลงทุนหลายอย่าง มีการเข้าซื้อ Bellisio Foods Inc ธุรกิจอาหารแช่แข็งของสหรัฐ และ Chili’s At Home กับ Boston Market ธุรกิจอาหารประเภทโฮมเมด มูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ และเมื่อเร็วๆนี้ ซีพีเพิ่งลงทุนฟาร์มกุ้งในฟลอริดา" บุญชัยระบุ 
 
อาลก ซีอีโอของอินโดรามาฯ บริษัทเคมิคอลชั้นนำของโลก ซึ่งได้ใช้ประเทศไทยขยายฐานลงทุนไปยังทั่วโลก ชี้ว่า การกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากบริษัทไม่ต้องพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งจนมากเกินไป ขณะเดียวกันการลงทุนในต่างประเทศ เป็นการย้ายฐานการผลิตเข้าไปใกล้กับลูกค้ามากขึ้น
 
ชนินท์ กล่าวว่า บ้านปูได้เริ่มธุรกิจพลังงานขนาดเล็กในสหรัฐ ก่อนที่จะขยายกลุ่มธุรกิจบริษัทพลังงานบ้านทุนไปสู่การลงทุนก๊าซหินดินดาน ในรัฐเพนซิลเวเนีย และเท็กซัส โดยมองว่า ธุรกิจเชื้อเพลิงจากฟอสซิลยังมีแนวโน้มดี เนื่องจากต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน พร้อมกับชี้ว่า อุปทานของพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมยังไม่มีความคงที่ แม้ว่าขณะนี้ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐไบเดน จะมีนโยบายสนับสนุนพลังงานสีเขียว แต่สหรัฐคงต้องเรียนรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเยอรมนี เนื่องจากอุปทานของพลังงานหมุนเวียนยังไม่เสถียร 
 
ส่วน ธีรพงศ์ กล่าวว่า การลงทุนในสหรัฐเริ่มต้นจากธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งการประสบความสำเร็จในสหรัฐได้สร้างความได้เปรียบในด้านการผลิต และได้มาซึ่งแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักในระดับท้องถิ่น โดยไทยยูเนี่ยนได้เปลี่ยนไปเน้นตลาดเอเชียเมื่อเร็วๆนี้ 
 
“หลังจากที่ลงทุนในสหรัฐ 24 ปี และยุโรป 10 ปี ตอนนี้ไทยยูเนี่ยนได้เปลี่ยนไปโฟกัสการลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้สูงขึ้น” ผู้บริหารไทยยูเนี่ยนกล่าว
 
อย่างไรก็ดี นักธุรกิจไทยที่เข้าร่วมสัมมนานี้ เห็นพ้องว่า สหรัฐเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ขณะเดียวกันยังเตือนว่า ตลาดสหรัฐมีการแข่งขันกันสูง ดังนั้นนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในสหรัฐ ต้องมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้วย
 
นอกจากนี้ นักลงทุนต้องมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อปฏิบัติต่างๆ ของแต่ละรัฐที่มีระเบียบต่างกัน ถือเป็นความท้าทายที่สุด
 
เอกอัครราชทูตดีซอมบรี คาดการณ์ว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีการควบรวมและซื้อกิจการต่างๆ ในสหรัฐและประเทศต่างๆ ให้เห็นมากขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดทำให้ข้อตกลงหลายด้านเกิดความติดขัด
ในส่วนการชักชวนนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย เอกอัครราชทูตสหรัฐ กล่าวว่า ทางการไทยได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ในการตระหนักเห็นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการผ่อนคลายกฎระเบียบการขอวีซ่า เพื่อให้แรงงานทักษะสูงสามารถเข้ามาทำงานในไทย และครอบครัวของพวกเขาก็สามารถเดินทางมาอยู่ในประเทศได้ง่ายขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตดีซอมบรียังได้เชิญให้บริษัทไทยเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ SelectUSA Investment Summit ประจำปี 2564 ในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งจะจัดขึ้นเพื่อนำเสนอสหรัฐ ในฐานะปลายทางการลงทุนชั้นนำของโลก รวมทั้งเป็นเวทีเชื่อมโยงบริษัทต่างประเทศที่มีคุณภาพเข้ากับองค์กรด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งจะส่งเสริมการลงทุนทางธุรกิจและการสร้างงานอีกด้วย
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 มกราคม 2564  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)