สร้างรายได้-แก้หนี้ นโยบายด่วนที่ต้องตอบโจทย์ โควิด-19

เปิดความเห็นประชาชน กับ 5 ประเด็นน่าสนใจหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะผลกระทบในมิติเศรษฐกิจ และสะท้อนมุมมองการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ควรดำเนินการเป็นอันดับแรกคือ นโยบายสร้างรายได้ และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
 
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนคนไทยในช่วงที่ผ่านมาหลายมิติ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในด้านผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อชีวิตของประชาชนในมิติต่างๆ
 
ในภาพรวมพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 79.5 รู้สึกวิตกกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 โดยมากกว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน เป็นอาชีพที่มีความรู้สึกวิตกกังวลสูงสุด เช่นเดียวกับกลุ่มพนักงานบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร กลุ่มค้าขาย กลุ่มรับจ้าง ส่วนกลุ่มอาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานของรัฐ มีความวิตกกังวลน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ของข้าราชการแตกต่างจากกลุ่มเอกชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง
 
ภาพรวมผลกระทบพบว่าประชาชนมากถึงร้อยละ 95.1 ได้รับผลกระทบ โดยกลุ่มที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นมีสัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบสูงสุด (ร้อยละ 97.1) ส่วนกลุ่มที่มีระดับการศึกษายิ่งสูง เช่น จบปริญญาโทขึ้นไปส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบสูง ในด้านอาชีพ กลุ่มอาชีพที่มีสัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบสูงสุดคือกลุ่มค้าขาย รองลงมาคือกลุ่มรับจ้าง พนักงานบริการท่องเที่ยวและร้านอาหาร และพนักงานบริษัทเอกชน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มเกษตรกรรมและประมงมีสัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 น้อยที่สุดคือร้อยละ 42.9
 
ผลการสำรวจพบประเด็นที่น่าสนใจ 5 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่
 
• จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบในมิติเศรษฐกิจสูงกว่าด้านสังคมสิ่งแวดล้อม โดยผลกระทบหลักคือทำให้รายได้ลดลง รองลงมาเป็นเรื่องประสบปัญหาค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และตกงาน ในขณะที่พบผลกระทบทางบวกบ้างเพียงเล็กน้อย เช่น ประหยัดเวลาในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายลดลง ในด้านผลกระทบทางสังคม ครอบครัวและจิตใจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเครียด รองลงมาเป็นเรื่องปัญหาการลักขโมยและอาชญากรรมเพิ่มขึ้น เรียนไม่ทันเพื่อน ในด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เรื่องสำคัญในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือมีขยะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
 
• การปรับตัวจากสถานการณ์ส่วนใหญ่ คือการใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นทั้งในการทำงาน การเรียนและการค้าขาย ส่วนหนึ่งเริ่มมีการเปลี่ยนอาชีพใหม่ และมีการเพิ่มเติมทักษะอื่น การย้ายกลับบ้านที่ต่างจังหวัด นอกจากนี้คนเริ่มมีการปรับตัวอื่นๆ เช่น ประหยัดค่าใช้จ่าย การกักตัวอยู่ที่บ้านมากขึ้น การดูแลสุขภาพมากขึ้น ขอยืมเงินญาติมาใช้จ่าย หาช่องทางหารายได้เพิ่มขึ้น ขายของหลายที่เพิ่มขึ้น เปิดร้านให้เร็วขึ้นและปิดให้ช้าลงพร้อมทั้งเพิ่มจำนวนวันขายของให้มากขึ้น ทำงานวันเว้นวัน รอดูสถานการณ์ เป็นต้น
 
• ประเด็นการออมเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องที่สำคัญมากและน่ากังวล เนื่องจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 57.4 ของประชาชนที่สำรวจไม่มีเงินออมเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 42.6 ที่มีเงินออม ซึ่งในกลุ่มประชาชนที่มีเงินออม พบว่ามีเงินออมเพียงไม่กี่เดือน โดยเงินออมน้อยกว่า 1 เดือนมีร้อยละ 16.2 กลุ่มที่มีเงินออม 2-3 เดือนมีจำนวนร้อยละ 39.7 ซึ่งในวิกฤติโควิด-19 ที่สถานการณ์ไม่แน่นอนสูงจึงส่งผลให้ประชาชนประสบกับความลำบากสูงมาก นัยเชิงนโยบายจากผลสำรวจในส่วนนี้คือภาครัฐไม่สามารถใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ยาวนานได้โดยไม่มีการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในช่วงล็อกดาวน์ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมหรือมีเงินออมให้พออยู่ได้เพียงไม่กี่เดือน
 
• อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ประชาชนที่ตอบแบบสำรวจประมาณครึ่งหนึ่งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทักษะของตนเองหากถูกเลิกจ้างนั้นอยู่ในระดับยากถึงยากที่สุด โดยกลุ่มอาชีพที่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงทักษะยากมากคือกลุ่มเกษตรกรรมและประมง อาชีพรับจ้าง อาชีพพนักงานบริการท่องเที่ยว/ร้านอาหาร ดังนั้นในระยะสั้นการช่วยเหลือการจ้างงานจึงไม่สามารถช่วยเหลือให้เปลี่ยนอาชีพที่ใช้ทักษะแตกต่างได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องช่วยเหลือโดยการให้ทำอาชีพที่ใช้ทักษะเดิมเป็นหลักก่อน แต่อย่างน้อยจากสถานการณ์โควิด-19 นี้ก็ทำให้ร้อยละ 87.5 ของประชาชนที่สำรวจเริ่มคิดวางแผนการดำรงชีพเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
 
• สุดท้าย นโยบายที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินการเพื่อไขปัญหาหลังสถานการณ์โควิด-19 คือนโยบายสร้างรายได้ (ร้อยละ 70.3) และการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน (ร้อยละ 63.1) รองลงมาเป็นเรื่องนโยบายด้านการจ้างงาน (ร้อยละ 36.6) การพัฒนาระบบสาธารณสุข (ร้อยละ 36.5) การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ปรับปรุงบริการภาครัฐ ปฏิรูประบบการศึกษา การพัฒนาทักษะและอื่นๆ เช่น การควบคุมราคาสินค้า การช่วยเหลือสวัสดิการและเพิ่มเงินให้ผู้สูงอายุ การไม่ประกาศวันหยุดเพิ่ม การจัดหาแหล่งเงินทุนและนโยบายการขนส่งคมนาคม เป็นต้น
 
โควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญความท้าทาย จากเหตุการณ์นี้ทำให้ทุกคนและทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชน ประชาชนเราต้องเริ่มคิดเปลี่ยนแปลง ถ้าคิดว่าจะต้องเปลี่ยนก็อย่ารอเวลา ถ้าคิดว่าจะต้องทำสิ่งใหม่ก็อย่าปิดกั้นที่จะลอง เพราะเราไม่รู้เลยว่าวิกฤติระลอกใหม่จะมาอีกครั้งเมื่อไร จะรุนแรงมากขึ้นแค่ไหนอย่างไร
 
เราต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ เราต้องแก้ไขสิ่งเก่าๆ เพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน…เพราะอนาคตที่ไม่แน่นอนนั้นเกิดขึ้นแน่นอน
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 มกราคม 2564 
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)