เลื่อนยื่นแบบภาษี 3 รายการ เพิ่มเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจ 2.6 แสนล้าน

ครม.อัดมาตรการภาษี ลดค่าใช้จ่ายประชาชน หวังเงินหมุนเวียน 2.6 แสนล้านบาท เลื่อนยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย แวต พร้อมต่ออายุลดภาษีที่ดิน 90% “คลัง” ตั้งงบ 4.1 หมื่นล้านชดเชยให้ อปท.
 
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ม.ค.2564 เห็นชอบมาตรการด้านภาษีหลายด้านเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเลื่อนการยื่นแบบภาษีประเภทต่างๆที่จะทำให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 265,700 ล้านบาท
 
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเลื่อนเวลายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนี้ 
 
1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2563(แบบ ภ.ง.ด.90 แบบ ภ.ง.ด.91) ที่ต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มี.ค.2564 ให้ขยายถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 เฉพาะแบบยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
 
2) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด. 1 แบบ ภ.ง.ด. 2 แบบ ภ.ง.ด. 3 แบบ ภ.ง.ด. 53 และ แบบ ภ.ง.ด. 54) ขยายเวลายื่นถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่น โดยเริ่มขยายเวลายื่นเดือน ก.พ.-มิ.ย.2564 เฉพาะที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
 
3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. 30 แบบ ภ.พ. 36) ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ถึงวันสุดท้าย ของเดือนที่ต้องยื่นให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นในเดือน ก.พ.-มิ.ย.2564 เฉพาะที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
 
ทั้งนี้กระทรวงการคลังรายงาน ครม.รับทราบว่าการขยายระยะเวลาการยื่นภาษีของประชาชนทั้ง 3 รายการจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 265,700 ล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบจากภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายเป็นเวลา 5 เดือน เดือนละ 2.15 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงิน 107,500 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 5 เดือน เดือนละ 29,520 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 147,600 ล้านบาท 
 
มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยประจำปี 2564 เพื่อบรรเทาภาระประชาชนช่วงโควิด-19 และลดค่าใช้จ่ายประชาชนดังนี้
 
1) มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2564 อัตรา 90% ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ โดย ครม.เห็นชอบบรรเทาผลกระทบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สูญเสียรายได้จากมาตรการนี้ในปีภาษี 2564 วงเงิน 41,445 ล้านบาท
 
2) มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% เฉพาะการซื้อขายที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ จากผู้จัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือห้องชุดจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอาคารชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
 
ทั้งนี้การจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการคราวเดียวกัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณี ครม.ลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและปลูกสร้างลง 90% ว่ากรณีนี้คนที่มีกำลังทรัพย์อาจจะช่วยประหยัดเงินภาษีเพื่อนำไปใช้จ่ายกระตุ้นกำลังซื้อได้อีกทาง
ส่วนกรณีลดค่าธรรมเนียมการโอนนั้นเป็นการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เป็นการช่วยเหลือกรณีที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่น เช่น อาจมีกิจการส่วนตัวและมีที่ดิน เมื่อมีโควิด-19 อาจบอกคนงานไม่ต้องมาทำงาน เมื่อเหตุการณ์ยาวนานเป็นเหตุที่ต้องประหยัดเงิน ส่วนนี้จะเสริมการใช้จ่ายดูแลพนักงานได้
 
นายอาคม กล่าวถึงการเรียกเงินเบี้ยยังชีพจากคนชราคืนเพราะเป็นผู้มีสิทธิรับบำนาญข้าราชการนั้น ชี้แจงว่า ใครที่ได้รับบำนาญจากภาครัฐไม่มีสิทธิได้เบี้ยผู้สูงอายุ เพราะเป็นเงินของรัฐตามกฎหมาย ดังนั้น อปท.ต้องไปเจรจาขอคืน ซึ่งจะไม่ได้ให้จ่ายเป็นก้อนเดียวแต่จะให้ทยอยคืนเป็นงวด
 
"เพื่อป้องกันปัญหาลักษณะนี้จะเรียกกรมบัญชีกลาง และ อปท.เข้ามาคุยกันว่าเงินส่วนที่ผู้สูงอายุควรได้เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ควรนำมาปนกับเงินบำนาญที่เกิดจากการสูญเสียญาติพี่น้อง หรือมรดกตกทอด เพราะเงินผู้สูงอายุเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ผู้สูงวัยควรได้รับเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อยู่ระบบหลักประกันหรือรับข้าราชการ ควรแยกจากกันให้ชัดเจน”
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 27 มกราคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)