ไทยจะชกอย่างไร เมื่อค้าออนไลน์เวียดนาม จ่อผงาดเบอร์ 1 อาเซียน
ในอีก 4 ปีข้างหน้า อัตราการขยายตัวการค้าออนไลน์ในเวียดนามจ่อขึ้นแท่น “เบอร์หนึ่งอาเซียน” ผู้ประกอบการของไทยจะรุกตลาดส่วนนี้ให้ได้ผลอย่างไรนั้น ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย มีคำตอบ
สถานการณ์โควิดเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้แต่ละประเทศมีการค้าแบบออนไลน์หรือ “E-commerce” มากยิ่งขึ้น ประเทศเวียดนามก็เช่นกัน หลายปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าออนไลน์ของเวียดนามโตก้าวกระโดด เห็นได้จากรายงานของ “Austrade (2019)” ระบุว่ามูลค่าตลาดออนไลน์ในอาเซียนระหว่างปี 2553 กับ 2561 เวียดนามมีอัตราการขยายตัวเป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย
ที่น่าสนใจคือ ในอีก 4 ปีข้างหน้า (2568) อัตราการขยายตัวการค้าออนไลน์เวียดนามจะขึ้นแท่น “เบอร์หนึ่งอาเซียน” (มูลค่าเป็นรองอินโดนีเซีย) การค้าออนไลน์เวียดนามในปี 2561 เท่ากับ 2.2 พันล้านเหรียญ และในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 15 พ้นล้านเหรียญ
เหตุผลที่ผลักดันให้เวียดนามมีการขยายตัวการค้าออนไลน์รวดเร็วเพราะ
1). มีจำนวนคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น โดย “UN และ ILO” ให้คำจำกัดความคำว่า “คนหนุ่มสาวคือประชากรอายุ 15-24 ปี” (แต่ UN Habitat, Youth Fund) ให้มีอายุ 15-32 ปี) ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็น “กลุ่มคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อหลัก” คิดเป็น “เกือบครึ่งหนึ่งประชากรทั้งหมดของเวียดนาม” ที่มีจำนวน 44 ล้านคนในปี 2563 เพิ่มจาก 8 ล้านคนในปี 2555 และจะเพิ่มเป็น 95 ล้านคนในปี 2573 (คาดการณ์โดย Nielsen) คนกลุ่มนี้เป็นรุ่น “Gen Y และ Z (ทั้งสองกลุ่มมีความมั่นใจและอิสระสูง รวมไปถึงความรู้เทคโนโลยี)” โดยคนชั้นกลางส่วนมากอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างโฮจิมินห์ ฮานอย ดานัง และไฮฟอง (ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินลงทุนจากต่างประเทศที่สนใจลงทุนในเมืองเหล่านี้)
2). ความเจริญอย่างรวดเร็ว ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนคนอาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มจาก 20% เพิ่มเป็น 40% ของประชากรทั้งหมด (2563) ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนเป็นคนเมือง โดยเฉพาะความต้องการอาหารแบบง่ายๆ สะดวกและรวดเร็ว (ผ่านทางออนไลน์) รวมไปถึงคำนึงถึงคุณภาพของสินค้ามากขึ้น
3). รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นสูงเร็วที่สุดในอาเซียน (จาก 837 เหรียญต่อคนต่อปีในปี 2559 เป็น 3,498 เหรียญต่อคนต่อปี ในปี 2563)
4).คนใช้อินเตอร์เนตเพิ่มอย่างรวดเร็ว ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 8 แสนคนเป็น 82 ล้านคน สูงเป็นอันดับสองอาเซียน ตามหลังอินโดนีเซีย (ปี 2563) และมีการใช้โชเชียลมีเดียจำนวน 65 ล้านคน
5). มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ “Vietnam’s Future Digital Economy towards 2030-2045, 2019” มากเป็นอันดับสองในอาเซียนตามหลังสิงคโปร์
6). ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อและ “Business Chain” (กลุ่มธุรกิจแฟชั่น อาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า) ทั้งต่างชาติและเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าของตนเองทั้ง “Online และ Offline” โดยออนไลน์มีทั้ง Website และ Application (หรือเรียกว่า “E-Marketplace”) ห้างต่างชาติใหญ่ได้แก่ Big C (ใช้แอฟ GO Big C), AEON (ใช้แอฟ AEON Vietnam), Lotte (ใช้ Speed Lotte App.) ห้างสรรพสินค้าสัญชาติเวียดนามที่ใหญ่สุดคือ “Vinmart” ใช้ “VinID App” และตามด้วยห้าง Co.op Mart
นอกจากนี้ “Vinmart” ยังมีร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากสุดในเวียดนาม (4,000 สาขา) ร้านสะดวกซื้ออื่นๆ เช่น Bach Hua Xanh, , Sutra Food และ Family Mart Circle K (แคนาดา) ส่วน “แพลตฟอร์มออนไลน์” ดังๆ ในเวียดนามแบ่งออกเป็นต่างชาติคือ Lazada.VN (B2B2C), Lotte (B2C), AeonEshop (B2C) และ Robin (B2B2C) ส่วนแพลตฟอร์มเวียดนามคือ Thegioididong.com (B2C) และ Tiki.vn (B2B2C) Shopee (C2C), Sendo (C2C), Adayroi (B2C) โดยออนไลน์ต่างประเทศมีส่วนแบ่งตลาด 70% ที่เหลือเป็นของเวียดนาม ส่วนโชเซียลมีเดียที่ใช้มากที่สุดคือ FB และ Youtube โดยคนเวียดนามที่มีอายุ 18-35 ปี เป็นกลุ่มคนที้ใช้โชเซียลมีเดียมากที่สุด และใช้เงินสดในการซื้อ
สำหรับสินค้าที่มีการซื้อออนไลน์มากที่สุดในเวียดนามคือ “เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้อุปโภคบริโภค เครื่องสำอางและอาหารเสริม”
ข้อแนะนำของผม
1). เลือกเมืองออนไลน์ คือ โฮจิมินห์ (ได้ “Top E-commerce Cities in Asia”) ฮานอย และดานัง
2). ขายแบบ “B2C” ให้ติดต่อ 1. ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ 2. กลุ่มธุรกิจ 3. กลุ่ม e-commerce และ 4. ผู้นำเข้า
3). ขายแบบ “B2B” ให้ติดต่อ viettrade.com, vietnamesemade.com, bizviet.net, tradeKey.com, vietnambiz.org, vietnamtradefair.com, vietaz.com และ tradeford.com แต่ผมขอแนะนำให้ติดต่อผ่าน “viettrade” และผมขอยกตัวอย่างสินค้าที่คนเวียดนามมีการสั่งซื้อทางออนไลน์เพิ่มขึ้นคือ “เครื่องสำอาง” คนเวียดนามนิยมเครื่องสำอาง จากแบรนด์ต่างประเทศมากกว่าในประเทศ โดยร้อยละ 90% มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยแบรนด์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากส่วนใหญ่มาจาก เกาหลีใต้ที่มาจากปัจจัย “K Factor” ได้แก่ “K-Pop, K-Drama, K-Music, K-Food และ K-Beauty” สัดส่วนตลาด 30% ตามด้วยยุโรป 23% ญี่ปุ่น 17% และไทย 13%
นอกจากนี้เครื่องสำอางเกาหลียังได้รับความเชื่อถือด้านคุณภาพและกล่องบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม รวมไปถึงการทำเขตการค้าเสรีเวียดนาม-เกาหลี (มีผลปี 2558) และ FDI เกาหลีในเวียดนาม (ปี 2562 FDI เกาหลีเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยฮ่องกง สิงคโปร์และญี่ปุ่น) โดยลิปสติกและรองพื้น และดูแลผิวหน้าและร่างกายได้รับความนิยมจากคนเวียดนาม แต่ในช่วงโควิดพบว่าครีมดูแลผิวพรรณมีการเติบโตสูงกว่ากลุ่มเครื่องสำอางสวยงาม ผู้หญิงเวียดนามให้ความสำคัญกับ “หน้ามัน เป็นสิว ผิวคล้ำ ผิวแห้ง และผิวย่น” ผลิตภัณฑ์ประเภทครีมทำความสะอาดหน้าจึงได้รับความนิยมมากในขณะนี้ ตามด้วยครีมกันแดด และครีมบำรุงผิว
อย่างไรก็ดีที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้คือ “เครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติ” เช่น จากสินค้าเกษตรได้แก่ กาแฟ โกโก้ ใบชา มะเขือเทศ และเนยถั่ว เป็นต้น (แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ายัง “ไม่มีจากผลไม้”) เหตุผลเพราะผู้บริโภคเวียดนามมองว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีความปลอดภัย แต่มีความกังวลผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติในประเด็น “อายุสินค้าสั้นและราคาที่แพง” ช่องทางที่สามารถทำตลาดและที่ได้รับความนิยมคือ ร้านเสริมความงามผลิตภัณฑ์ ห้างสรรพสินค้า “ขายออนไลน์ (แบรนด์ญี่ปุ่นและเกาหลีใช้ช่องทางนี้)” และร้านขายยา (แบรนด์ยุโรปและสหรัฐฯ) ผู้บริโภคจเลือกซื้อเครื่องสำอางให้ความสำคัญกับ ประเทศผู้ผลิต ไม่ทำลายผิว และราคา คนเวียดนามที่ไม่ซื้อเครื่องสำอางออนไลน์เพราะกังวลคุณภาพและของปลอม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 28 มกราคม 2564