RCEP หนุนการค้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ “เอเชียแปซิฟิก”แข็งแกร่งอีกครั้ง

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ที่เพิ่งลงนามไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นับเป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่มีมูลค่าสูงที่สุด
 
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ที่เพิ่งลงนามไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นับเป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่มีมูลค่าสูงที่สุด และครอบคลุมตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจะส่งผลต่อประเทศที่ร่วมลงนามอย่างไรในช่วงเวลาที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังมุ่งหน้าสู่อนาคตหลังโควิด-19
 
หนึ่งในสามของจีดีพีของโลก คือมูลค่าของรายได้รวมของประเทศทั้งหมดที่ร่วมลงนามในข้อตกลงอาร์เซ็ป ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศในอาเซียน รวมทั้งออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ อาร์เซ็ปจึงถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน เกี่ยวข้องครอบคลุมกลุ่มประชากรเกือบ 30% ของโลก ซึ่งนับเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทย เพราะไทยส่งออกสินค้าสู่ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปทั้งหมดเป็นมูลค่ารวมกว่า 9.18 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 53% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยสู่ตลาดโลก
 
หลังจากการเจรจาหลายครั้งเป็นเวลานานถึง 8 ปี เป็นที่คาดว่าอาร์เซ็ปจะได้รับการเห็นชอบจากประเทศร่วมลงนามทั้งหมดและมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2564 ท่ามกลางสภาวะของความพลิกผันอย่างใหญ่หลวงจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ฃ
ข้อตกลงอาร์เซ็ปคือปรากฏการณ์ใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้กับเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่กำลังเร่งฟื้นตัว เป็นความพยายามครั้งสำคัญในการทลายกำแพงทางการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และแน่นอนว่าธุรกิจทุกขนาดทั่วทั้งเอเชียต่างเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างการเติบโต
 
 สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ ยานยนต์ สินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรม ค้าปลีก และการบริการ
 
นักวิจัยประเมินว่าเฉพาะในปี 2573 เพียงปีเดียว ข้อตกลงอาร์เซ็ปจะสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าถึง 186 พันล้านดอลลาร์ การลดกำแพงทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างประเทศสมาชิกภายใต้ข้อตกลงนี้เป็นการเบิกทางสู่การประสานความร่วมมือภายในภูมิภาคที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ เสริมสร้างความแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็ช่วยอุดช่องว่างของจุดอ่อนในด้านขีดความสามารถต่าง ๆ โดยการร่วมมือกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ
 
กฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นส่งผลดีต่อธุรกิจ ด้วยการลดอุปสรรคจากความซับซ้อนและเหลื่อมล้ำของกฏระเบียบต่าง ๆ ในการทำการค้ากับประเทศในกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคที่ภูมิภาคกำลังมุ่งเน้นส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกัน
 
นอกจากอำนวยความสะดวกให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น อาร์เซ็ปยังช่วยจุดประกายให้เกิดการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนของภูมิภาคใหม่ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งให้เครือข่ายเดิมที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่เทรนด์ใหม่ที่อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมา แต่ความขัดแย้งทางการค้าและความร่วมมือด้านซัพพลายเชนของประเทศต่าง ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้จากผลกระทบของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการคงความเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาคที่ได้รับประโยชน์จากแผนการย้ายฐานการดำเนินธุรกิจและการผลิตมาอยู่ใกล้กับประเทศแม่ (Nearshoring) ของบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความเป็นผู้นำทางด้านการผลิตและส่งออก เช่น ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยาง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
 
อันที่จริงแล้ว มีความเป็นไปได้ที่บางบริษัทจะสามารถค้าขายสินค้าทั้งหมดของตนผ่านกรอบข้อตกลงอาร์เซ็ปและยึดถือเพียงกฏระเบียบทางการค้าชุดเดียวนี้ในการดำเนินธุรกิจทั้งหมด เครือข่ายซัพพลายเชนที่รองรับข้อตกลงอาร์เซ็ปซึ่งรวมการดำเนินการทั้งหมดไว้ภายในพรมแดนของประเทศในกลุ่มการค้ายังสามารถช่วยลดความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า และเสริมศักยภาพในการกระจายสินค้าสู่ตลาด
 
ก่อนที่จะมีการลงนามข้อตกลงอาร์เซ็ป มีข้อตกลงทางการค้าอื่น ๆ อยู่แล้วหลายฉบับระหว่างประเทศในอาเซียนและอีกหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก และถึงแม้อาร์เซ็ปจะไม่ได้มาแทนที่ข้อตกลงเหล่านั้นได้ทั้งหมด แต่ก็ทำหน้าที่รวมหลายๆ ข้อตกลงเหล่านั้นเข้าด้วยกัน ช่วยกำหนดแนวทางในการทำการค้าภายในภูมิภาคที่สอดประสานเป็นหนึ่งเดียว ลดปัญหาความยุ่งยากสับสนจากความทับซ้อนของข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับ
ความสำคัญอีกประการของข้อตกลงอาร์เซ็ปคือช่วยลดอัตราภาษีได้อย่างน้อยใน 92% ของกลุ่มสินค้าที่ค้าขายอยู่ทั้งหมด โดยบางกลุ่มมีผลทันที และบางกลุ่มอาจใช้เวลาเป็นปี ซึ่งสำหรับประเทศไทย มีสินค้าที่ค้าขายอยู่ในปัจจุบันถึง 99% ได้รับประโยชน์ โดยช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าเหล่านี้ระหว่างประเทศในกลุ่มการค้าลงได้อย่างชัดเจน
 
แต่กระนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดคือ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดแบบสะสม (Cumulative Rules of Origin : CRO) อันเป็นการยอมให้ประเทศสมาชิกนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าจากประเทศสมาชิกด้วยกันในการกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าได้ ซึ่งโดยปกติ สินค้าที่จะได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีภายใต้ข้อตกลงการค้า จะต้องมีสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่สูงเพียงพอที่จะกำหนดว่าเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศผู้ส่งออก การที่สินค้าจะได้รับพิจารณาว่ามีแหล่งกำเนิดจากประเทศใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดวงจรซัพพลายเชน ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายถ้าเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพียงสองประเทศ แต่ภายใต้ข้อตกลงอาร์เซ็ป การยอมรับเรื่องการกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าจะทำได้ง่ายขึ้น เพียงแค่สินค้านั้นมีสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจากแหล่งกำเนิดในประเทศใดก็ได้ใน 15 ประเทศสมาชิกที่สูงเพียงพอ จะส่งผลให้ได้รับการยกเว้นภาษี ที่ดีไปกว่านั้นคือ ผู้ประกอบการเพียงแค่สมัครเพื่อรับการ
รับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาร์เซ็ปครั้งเดียวก็สามารถส่งออกสินค้าไปสู่ประเทศสมาชิกได้ทั้งหมด ช่วยลดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
 
ข้อตกลงอาร์เซ็ปยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการแข่งขัน โดยวางกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันการจำกัดการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ขณะเดียวกันก็ช่วยให้แต่ละตลาดยังคงได้รับข้อยกเว้นบางอย่างเพื่อรักษาประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การลงนามข้อตกลงอาร์เซ็ปสร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจต่าง ๆ ในเอเชียในการสร้างการเติบโตจากการค้าระหว่างประเทศ การสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ในประเทศที่มีพรมแดนใกล้ชิดกันที่พร้อมเปิดประตูต้อนรับช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเริ่มต้นก้าวแรกในการทำการค้าข้ามประเทศได้ง่ายขึ้น
 
แม้กระนั้น ความสำเร็จอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทันที การที่ธุรกิจได้รับประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงอาร์เซ็ปต้องอาศัยการวางแผนด้านโลจิสติกส์ที่รัดกุม เพราะแม้อาร์เซ็ปจะมีผลครอบคลุมประเทศต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการยกเลิกกำแพงทางการค้าอย่างเบ็ดเสร็จเหมือนข้อตกลงทางการค้าบางฉบับ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าที่ผลิต และประเทศที่เป็นตลาดส่งออก
 
นอกจากนั้น อาจมีข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่เดิมระหว่างสองประเทศซึ่งมีเงื่อนไขที่ดีกว่าอาร์เซ็ป ฉะนั้น ธุรกิจอาจจำเป็นต้องใช้กรอบข้อกำหนดทางการค้าที่แตกต่างกันไปสำหรับการส่งออกแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและประเทศปลายทาง การแสวงหาโอกาสทางการค้าในตลาดโลกย่อมต้องพิจารณาความซับซ้อนเหล่านี้ ซึ่งผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ไม่ควรมองว่าเป็นอุปสรรค 
 
ที่ยูพีเอส การพลิกความยุ่งยากซับซ้อนทางการค้าให้เป็นโอกาสทางธุรกิจคือส่วนหนึ่งของหน้าที่ของเราในฐานะผู้ขับเคลื่อนธุรกิจการค้าของโลก ซึ่งถือเป็นสัดส่วนถึง 3 % ของจีดีพีโลก ยูพีเอสเล็งเห็นว่าข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าจำนวนมากของเรา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่กำลังมองหาโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ ๆ ซึ่งหากได้อาศัยความช่วยเหลือจากพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ที่มีประสบการณ์แข็งแกร่งในการตรวจสอบรายละเอียดเพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ สอดคล้องกับข้อตกลงทางการค้า ก็จะสามารถลดภาระความยุ่งยากและหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจได้อย่างเต็มที่
 
การลงนามในกรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้เป็นข่าวน่ายินดี และสะท้อนแง่มุมดี ๆ ท่ามกลางวิกฤติสำหรับเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกในช่วงเข้าสู่ปี 2564 นี้ ซึ่งเมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว อาร์เซ็ปจะมีศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในการเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่กำลังพร้อมปลดล็อคสู่โอกาสทางการค้าข้ามประเทศใหม่ ๆ อีกมากมายที่กำลังรออยู่และในระหว่างที่เรากำลังรอเวลานั้นให้มาถึง ธุรกิจต่าง ๆ คงต้องใช้เวลาในขณะนี้เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม
แหล่งข้อมูล :  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 มกราคม 2564  
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)