จุรินทร์ ถก กรอ.พาณิชย์ ดันส่งออก 4% จ่อครม.ไฟเขียวเรือ 400 ม. เทียบท่ารับของได้
เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 1/2564 ว่า ได้หารือเรื่องสำคัญ 3 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก :
สถานการณ์ในเมียนมาจะกระทบต่อการค้าและการลงทุนไทยอย่างไร พบว่า ถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคการค้าและภาคธุรกิจ การดำเนินการทางธุรกรรมและการค้าขายตามชายแดนยังทำได้ปกติ
“เมียนมาถือว่าเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ในเรื่องการค้าชายแดน ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบทั้ง 3 ด่านถาวรที่ค้าขายระหว่างกัน ทั้งด่านแม่สาย แม่สอด และระนอง ยังส่งออกสินค้าได้ตามปกติ โดยด่านที่กาญจนบุรี สังขละบุรี คาดว่าจะเปิดด่านได้ในเร็วๆนี้หลังปิดจากโควิดระบาดรอบแรก ซึ่งสั่งการให้สำนักงานพาณิชย์ในเมียนมา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานกลับมาผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน เพื่ออัพเดตสถานการณ์ในเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน การทำธุรกิจให้ทราบ” นายจุรินทร์ กล่าว
ประเด็นที่สอง :
ประเมินสถานการณ์ส่งออกปี 2564 จากการหารือกับภาคเอกชน เห็นพ้องปี 2564 คาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 3.5-4% โดยกระทรวงพาณิชย์มองว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะขยายตัว 4%
ประเด็นที่สาม :
การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก มีรายละเอียดหลายประเด็น เช่น การส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนามที่ผ่านมาติดขัดในเรื่องกฎระเบียบในการนำตัวอย่างรถยนต์ไปตรวจสอบแทบทุกล็อต ต่อไปนี้มีมาตรการที่เป็นข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน (MRA) ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันครบ 10 ประเทศแล้ว เหลือขั้นตอนทำสัตยาบันของแต่ละประเทศ
สำหรับประเทศไทยเร่งนำเข้าสภาฯและขอให้สัตยาบันเร็วที่สุดก่อนสมัยประชุมนี้ จะส่งผลดีต่อการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามง่ายขึ้นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นอุปสรรคการส่งรถยนต์ คือ การลำเลียงรถที่ผลิตจากโรงงานไปยังท่าเรือเพื่อการส่งออก ซึ่งทุกคันจะไม่มีทะเบียนเพราะเป็นรถใหม่ แต่อาจถูกดำเนินคดีข้อหาไม่มีทะเบียนจากเจ้าหน้าที่ ผมได้สั่งการให้หารือร่วมกันกับทุกหน่วยงานขณะนี้ ได้มีมาตรการให้สามารถดำเนินการได้ โดยเจ้าหน้าที่ต้องไม่ไปจับกุมดำเนินคดี เพราะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายที่สามารถทำได้
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนเพื่อการส่งออก ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่กระทบไปทั่วโลกหลายประเทศประสบปัญหาเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับภาคเอกชน หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ และภาคเอกชนในส่วนอื่นๆ รวมทั้ง กรมศุลกากรในเรื่องของการท่าเรือและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ แนวทางว่าการแก้ปัญหา ประกอบด้วย
1). สำหรับสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องส่งออกโดยการใช้ตู้จะหลีกเลี่ยงการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ จะใช้เรือที่ขนสินค้าส่งออกแทนเช่น ผลไม้ มะพร้าว หรือพืชเกษตรชนิดอื่นรวมทั้งไม้ยางพาราเป็นต้น โดยเตรียมเรือไว้จำนวนหนึ่ง จะเริ่มดำเนินการได้ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อลดการใช้ตู้คอนเทนเนอร์
2). ส่งเสริมให้มีการนำให้เรือบรรทุกสินค้านำตู้เปล่าเข้ามาโดยใช้มาตรการจูงใจเช่น ลดค่าธรรมเนียมนำเข้าตู้เปล่า การท่าเรือ จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป โดยเป็นผู้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ คาดว่าจากเร็วที่สุด อาจเข้าที่ประชุมครม.อังคาร 9 กุมภาพันธ์
3). เรื่องที่เอกชนมาเรียกร้อง มาว่า อยากเปิดโอกาสให้เรือขนาด 400 เมตร ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่และมีสายการเดินเรืออยู่ประมาณ 6 สายการเดินเรือเข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังโดยไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องอนุญาตโดยใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่โดยไม่จำเป็น กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชนได้หารือร่วมกันกับการท่าเรือและได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะอนุญาตให้เรือที่มีขนาดใหญ่ 400 เมตร สามารถเข้ามาเทียบท่าและรับสินค้าไทยเพื่อการส่งออกได้โดยขออนุญาตใช้เวลาแค่หนึ่งวันและใบอนุญาตจะมีอายุ 2 ปี
สินค้าส่งออกขึ้นเรือใหญ่และไปสู่ประเทศปลายทางได้เลย จากที่จะต้องไปถ่ายลงเรือใหญ่ที่สิงคโปร์หรือท่าอื่นๆทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นการลดต้นทุนไปในตัว และมาตรการหนึ่งที่เข้ามาช่วยเสริม คือ สินค้าบางอย่างที่ส่งไปจีน จะเน้นการขนส่งทางรถหรือทางบกให้มากขึ้น โดยเร่งเจรจาส่งออกทางบกผ่านด่านของไทยไปลาวเวียดนาม และจีน ให้ได้มากขึ้น ลดความจำเป็นในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า เอกชนอยากให้เปิดด่านชายแดนเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีด่านชายแดนทั้งหมด 97 ด่าน เปิดแล้ว 39 ด่าน ล่าสุดจากการเจรจาของกระทรวงพาณิชย์ได้อีกหนึ่งด่าน คือ ด่านถาวรที่บึงกาฬเป็น 40 ด่าน อยากเร่งรัดเปิดอีก 3 ด่าน คือ 1). ด่านป่าแซง จังหวัดอุบลราชธานี 2). ด่านเชียงคาน จังหวัดเลย 3). ที่ท่าเรือหายโศก จังหวัดหนองคาย
“โดยจะนำเข้าหารือที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคาร 9 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรี สั่งการเป็นนโยบายเพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น” นายจุรินทร์ กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564