เศรษฐกิจโลกปีนี้ วัคซีนกับโควิด-19 ใครจะชนะ

เปิด 3 ปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวปี 2564 นี้ นอกจากวัคซีนโควิดที่เป็นความหวังของนานาประเทศที่จะต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีที่แล้วที่ดีกว่าคาด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างต่อเนื่องในสหรัฐและญี่ปุ่น
 
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2019 ต้องถือเป็นมหันตภัยใหญ่หลวงต่อคนทั้งโลก ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อกว่า 105 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 2.2 ล้านคน แม้ทุกประเทศจะพยายามทุ่มทรัพยากรเต็มที่เพื่อแก้ปัญหา แต่ถึงขณะนี้การระบาดยังไม่หยุด และส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก ความหวังจึงมีอย่างเดียวคือ “วัคซีน” ที่จะหยุดการระบาด นำเศรษฐกิจโลกและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกกลับสู่ภาวะปกติ
 
ด้วยเหตุนี้ข่าวการรับรองวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว และการเริ่มนำวัคซีนมาฉีดให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในหลายประเทศ จึงเป็นข่าวดีทั้งต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก ให้ความหวังว่าการระบาดอาจหยุดได้ ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 สะท้อนความหวังนี้ โดยมองสามปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวปีนี้
 
1). โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปีที่แล้วที่ดีกว่าคาด คือหดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี ที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนฟื้นตัวเข้มแข็งในไตรมาส 3 หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน แต่การฟื้นตัวแผ่วลงในไตรมาส 4 เมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ รวมถึงในเอเชียและประเทศไทย ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 3.5 เลวร้ายสุดคือประเทศอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่หดตัวร้อยละ 2.4
 
2). มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติมช่วงปลายปีที่แล้วโดยสหรัฐและญี่ปุ่น ที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการที่จะมาจากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐในปีนี้ ที่มุ่งมั่นจะทำเต็มที่เพื่อหยุดการแพร่ระบาดและฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังถดถอย มาตรการเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และจะเข้มแข็งกว่าที่ประเมินไว้เดิม
 
3). วัคซีน โดยคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมและในประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศ จะฟื้นตัวได้มากขึ้นในปีนี้จากการชะลอตัวของการระบาดที่เป็นผลจากการฉีดวัคซีนที่ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ประมาณว่าการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศเหล่านี้จะมีต่อเนื่องถึงปลายปี ซึ่งหมายถึงคนส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีน ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เหลือก็จะเริ่มฉีดวัคซีนในปีนี้เช่นกัน และจะใช้เวลาไปถึงปลายปีหน้า
 
ไอเอ็มเอฟมองว่าการมีวัคซีนและการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางต่อเนื่องถึงปลายปีหน้า รวมถึงวิธีการรักษาที่ดีขึ้นจะส่งผลให้การระบาดของโควิด-19 ลดลง เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว และกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว เป็นการฟื้นตัวที่ขับเคลื่อนด้วยความปลอดภัยของการใช้ชีวิตที่มาจากวัคซีน โดยประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 5.5 และที่จะขยายตัวมากสุดคือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมจีนและอินเดียที่จะขยายตัวร้อยละ 6.3 ปีนี้ 
 
อย่างไรก็ตาม ในระดับประเทศ ความสามารถในการขยายตัวจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ความรวดเร็วในการเข้าถึงวัคซีน ประสิทธิภาพของนโยบายที่แต่ละประเทศใช้ในการฟื้นเศรษฐกิจ และความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่ประเทศมีอยู่เดิม สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งรวมไทย ไอเอ็มเอฟประเมินว่าปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่ำกว่าอัตรารวมของเศรษฐกิจโลก
 
จาก 3 ปัจจัยนี้ ชัดเจนว่าที่สำคัญสุดและเป็นตัวเปลี่ยนเกมจากปีที่แล้วก็คือ วัคซีน ที่จะทำให้การระบาดของโควิด-19 สามารถชะลอและ/หรือยุติลง นำเศรษฐกิจโลกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ยิ่งถ้าวัคซีนพิสูจน์ผลออกมาว่ามีประสิทธิภาพ สามารถกระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลกได้เร็ว รวมทั้งประเทศตลาดเกิดใหม่ และการใช้วัคซีนถูกต่อยอดไปสู่วิธีการรักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ดีกว่าที่มีขณะนี้ การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกก็อาจจบหรือยุติลงเร็วกว่าคาด สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน นำมาสู่การฟื้นตัวของการบริโภค การลงทุนและการจ้างงาน 
 
สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะมีอยู่ต่อไป บวกกับนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย ก็จะสร้างโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เข้มแข็งให้เศรษฐกิจโลกกลับสู่การขยายตัว นี่คือความหวังที่มากับวัคซีน
 
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีความไม่แน่นอนและวัคซีนก็อาจเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจได้ ถ้าผลพิสูจน์ออกมาว่าวัคซีนไม่สามารถป้องกัน หรือลดการระบาดได้อย่างที่หวัง คือไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การระบาดจะยังไม่หยุดง่ายๆ เพราะในทางการแพทย์ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้หรือไม่ ทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจนึกว่าตัวเองปลอดภัยเลยใช้ชีวิตอย่างไม่ระวัง การ์ดตกในแง่การสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่างและเดินทางไปทั่วรวมถึงต่างประเทศ โดยไม่ตระหนักว่าแม้วัคซีนจะช่วยป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยถ้ามีการติดเชื้อ แต่เชื้อที่ตนมีอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ ทำให้การระบาดจะไม่หยุดง่าย นี่คือเป็นประเด็นสำคัญที่ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อสรุปและทุกฝ่ายกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อหาคำตอบ
 
ดังนั้น ความเสี่ยงที่วัคซีนอาจไม่มีประสิทธิภาพพอ มีความล่าช้าในการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนให้ประชากรรวมถึงการอุบัติขึ้นของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ (strains) ใหม่ ที่วัคซีนที่ผลิตมาอาจต่อกรหรือปราบไม่ได้ เหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ทำให้การระบาดอาจจะยังไม่จบลงง่ายๆ รวมถึงผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ที่สำคัญถ้าการระบาดลากยาว ผลต่อเศรษฐกิจ ต่อธุรกิจ และต่อความเป็นอยู่ของประชากรก็จะลากยาวตามไปด้วย สร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับเสถียรภาพของภาคธุรกิจ เสถียรภาพของระบบการเงิน และเสถียรภาพของสังคม และในประเทศที่สถานการณ์การเมืองของประเทศอ่อนไหว ความยืดเยื้อดังกล่าวก็จะมีผลต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อภาครัฐและต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศ
 
ท่ามกลางข่าวดีของวัคซีน ซึ่งต้องถือว่าเป็นข่าวดีจริง เพราะย้อนกลับไป 6 เดือนคงไม่มีใครกล้าบอกว่าโลกจะพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เร็วขนาดนี้ จึงต้องตระหนักถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ยังมีอีกมาก ทำให้การทำนโยบายของประเทศต้องไม่ประมาทและต้องเตรียมพร้อมกับความเป็นไปได้ที่สถานการณ์การระบาดจะยืดเยื้อ และกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง
 
ในบริบทนี้นอกเหนือจากการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคมที่ได้รับผลกระทบ สิ่งที่นโยบายของประเทศต้องให้ความสำคัญคือ รักษาความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข สร้างงานให้คนในประเทศทำเพื่อให้มีรายได้ และสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศในเศรษฐกิจโลกหลังยุคโควิด
นี่คือ 3 เรื่องที่จะสำคัญในแง่นโยบายปีนี้ ปีที่วัคซีนกับโควิดทำสงครามกัน โดยยังไม่รู้ว่าใครจะชนะ
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)