"เวียดนาม" อาจแซง "ไทย" ในปี 2572

เปิดบทวิเคราะห์ ทำไมการเติบโตทางเศรษฐกิจของ "เวียดนาม" ถึงจะแซงหน้า "ไทย" ทั้งที่ขนาดเศรษฐกิจของไทยใหญ่กว่าเท่าตัว รวมถึงมีรายได้ประชาชาติต่อหัวมากกว่าถึง 3 เท่า และโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลังกว่าไทย
 
ตามที่นายกฯ ประยุทธ์ตั้งคำถามในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าทำไมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยถึงไม่เท่ากับเวียดนาม ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรเหนือกว่า ผมในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเวียดนาม ขอมาไขข้อเท็จจริงให้ฟัง ที่สำคัญก็คือแล้วเมื่อใดที่เวียดนามจะแซงไทย (เสียที)
 
ในช่วงปี 2542 ผมไปเยือนเวียดนามในครั้งแรกที่กรุงฮานอย ในงานประชุมสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งอาเซียน ในครั้งนั้นจำได้ว่าสนามบินกรุงฮานอย มีขนาดพอๆ กับสนามบินเมืองรองสักแห่งหนึ่งของประเทศไทยในเวลานี้เท่านั้น ไม่ได้ขยายตัวใหญ่โตเช่นในปัจจุบันนี้ ในช่วงปลายปี 2548 ถึงต้นปี 2549 ที่ผมไปประจำการอยู่ที่กรมประเมินค่าทรัพย์สิน กระทรวงการคลังเวียดนาม กรุงฮานอยและนครอื่นๆ ที่ผมต้องไปเยือนในฐานะที่ปรึกษาก็เพิ่งเริ่มเติบโตกันอย่างจริงจัง ต่อมาในช่วงปี 2555-2560 ที่ผมไปทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทพัฒนาที่ดินมหาชนในนครโฮจิมินห์ การขยายตัวก็ก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก
 
ผมไปสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในนครโฮจิมินห์ซิตี้และกรุงฮานอยในช่วงปี 2551-2563 ก็ปรากฏว่าในช่วง 3 ปีหลังมานี้เองที่การพัฒนาอย่างขนานใหญ่เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด เมื่อก่อนตลาดอาคารชุดของเวียดนามแพงกว่าไทยมาก เพราะมุ่งเสนอขายแก่คนรวยและให้เช่ากับนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันเริ่มมีห้องชุดสำหรับประชาชนทั่วไปมากขึ้น มีการเก็งกำไรกันเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ในขณะนี้
 
เรามาเปรียบเทียบ "ไทย" กับ "เวียดนาม" กัน :
 
1). ขนาดของประเทศไทยมี 510,890 ตารางกิโลเมตร (นับเฉพาะพื้นดิน) ส่วนเวียดนามมีขนาดเพียง 310,070 ตารางกิโลเมตร หรือเพียง 60% ของประเทศไทยเท่านั้น
 
2). ประชากรไทยมี 70 ล้านคน แต่ชาวเวียดนามมี 103 ล้านเข้าไปแล้ว หรือมีจำนวนประชากรมากกว่าไทยถึง 43% ดังนั้นจึงทำให้ความหนาแน่นของประชากรต่อตารางกิโลเมตรเป็น 332 คน ในขณะที่ไทยมีความหนาแน่นเพียง 137 คนต่อตารางกิโลเมตร
 
3). ประชากรเวียดนามโตปีละ 1% ในขณะที่ไทยโตปีละเพียง 0.3% เท่านั้น อายุเฉลี่ยของคนเวียดนามคือ 32 ปี แต่ไทยเป็น 39 ปี แสดงว่าประชากรเวียดนามอยู่ในวัยหนุ่มสาวมากกว่าไทย อย่างไรก็ตาม อายุขัยของคนเวียดนามอยู่ที่ 75.25 ปี แต่ไทยมีอายุขัยสูงกว่าคือ 77.39 ปีโดยเฉลี่ย
 
4). ในแง่ประชากรที่เป็นภาระนั้น ไทยมีประชากรเอดส์อยู่ 480,000 คน แต่เวียดนามมีน้อยกว่าคือเพียง 230,000 คน ชาวเวียดนามมีคนที่เป็นโรคอ้วนเพียง 2.1% แต่ไทยอยู่ที่ 10% ทำให้อาจมีภาระค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าเวียดนาม
 
5). ในด้านเศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามอยู่ที่ 259,957 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 543,798 พันล้านดอลลาร์ หรือแสดงว่าเศรษฐกิจไทยใหญ่กว่าเวียดนามอยู่ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว สำหรับรายได้ประชาชาติต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่ราว 2,524 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี แต่ตัวเลขนี้ของไทยอยู่ที่ 7,769 ดอลลาร์ต่อปี แสดงว่าคนเวียดนามมีฐานะเพียงหนึ่งในสามของคนไทยเท่านั้น
 
6). อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีคนว่างงาน 3.11% แต่ไทยมีเพียง 1% และขณะนี้ร้อยละของประชากรยากจนอยู่ที่ 8% ส่วนไทยอยู่ที่ 7.2% แต่เมื่อพิจารณาถึงกรณีโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยจนลงไปมาก อาจทำให้ร้อยละของคนจนในไทยมีมากกว่าในเวียดนามก็เป็นไปได้ ความเหลื่อมล้ำในไทยจึงค่อนข้างสูงมาก
 
ผมยังได้คุยกับ น.ต.ชวิศ ช่วยชู ซึ่งเป็นนักลงทุนไปอยู่เวียดนามนานถึงประมาณ 25 ปีแล้ว ท่านทำกิจการนิคมอุตสาหกรรมคล้ายๆ กับที่คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ไปทำที่เวียดนาม และยังทำกิจการอื่นๆ ทางด้านอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย ท่านให้ข้อมูลล่าสุดว่าในรอบปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว จากราคาตารางวาละ 8,400 บาท เป็น 24,000 บาท เพราะมีนักลงทุนเข้าไปในเวียดนามเป็นจำนวนมาก
 
ในขณะที่ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในไทยอาจขายฝืด แต่ในเวียดนามกลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ปัจจัยบวกของเวียดนามก็คือถ้าต่างชาติเข้าไปลงทุนอุตสาหกรรมในเวียดนาม ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ 3 ปี ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อเดือน
 
ในอนาคตจำนวนนักลงทุนไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่นที่เคยไปลงทุนขนานใหญ่ในจีน จนจีนผงาดขึ้นมาในขณะนี้ ก็กำลังพิจารณาที่จะถอนตัวออกมาจากจีน และเป้าหมายสำคัญในการย้ายฐานการผลิตก็คงไม่พ้นเวียดนาม อินโดนีเซีย ส่วนไทยจะได้อานิสงส์หรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับความสามารถของทางราชการไทยว่าจะสามารถเชิญชวนนักลงทุนมาได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งตอนนี้ ดร.สมคิดไม่อยู่ และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของไทยก็ไม่ “เจ๋ง” เท่า ดร.สมคิด (ที่ก็ไม่ค่อย “เจ๋ง” เท่าไร อนาคตที่ไทยจะเป็นฐานการลงทุนจึงยิ่งน้อยลง)
 
ส่วนสาเหตุที่มีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์กันขนานใหญ่ในช่วงนี้ ก็เพราะตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ไม่จูงใจเลย จึงทำให้ผู้คนหันมาเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมาก ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มกระฉูดมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเวียดนามมีการสร้างบ้านราคาถูกสำหรับประชาชนแบบ “บ้านเอื้ออาทร” ของไทย ก็ยิ่งทำให้มีคนซื้อไปเก็งกำไรกันมากขึ้น แต่ระลอกของการเก็งกำไรก็เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
 
อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีข้อเสียอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า ทางหลวงที่ยังล้าหลังกว่าประเทศไทยเป็นอย่างมาก ประสิทธิภาพของคนงานไทยเมื่อเทียบกับเวียดนาม ไทยเรายังมี “ภาษี” ดีกว่ามาก ทั้งอัธยาศัย ความคล่องแคล่ว การไม่ถือทิฐิจนเกินไป แต่ข้อเสียเหล่านี้ต่างชาติคงไม่อาจทราบได้จนกว่าจะได้หลงเข้าไปในเวียดนามแล้วเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียดาย
 
ในขณะนี้ขนาดเศรษฐกิจไทยนำหน้าเวียดนามอยู่ 1 เท่าตัว ถ้าประเทศไทยเติบโตแบบลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ที่ 3% ต่อปี แต่เวียดนามเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ท่านว่าภายในกี่ปีเวียดนามจะแซงไทย คำตอบก็คือ 15 ปีเท่านั้น คือในปี 2579 นี่เอง คงไม่นานเกินรอใช่หรือไม่ 
 
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงอาจเร็วกว่านั้น รายได้ประชาชาติของคนเวียดนามนั้นอาจต่ำกว่าความเป็นจริงก็ได้ แท้จริงแล้วขนาดเศรษฐกิจเวียดนามอาจไม่ได้มีขนาดเพียง 50% ของไทย แต่อาจเป็น 70% ก็เป็นไปได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น ภายในเวลา 8 ปีหรือในปี 2572 เวียดนามก็จะแซงไทยแล้ว หลายคนอาจไม่ทราบว่าเมื่อ 60 ปีก่อน เวียดนามก็เคยเจริญทัดเทียมหรือเจริญกว่าไทยด้วยซ้ำไป
 
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อ 40 ปีก่อน เวียดนามใกล้ชิดจีนแต่ต่อต้านสหรัฐ ส่วนไทยใกล้ชิดสหรัฐแต่ต่อต้านจีน มาวันนี้กลับกัน เวียดนามใกล้ชิดสหรัฐจากเครือข่าย (เวียดเกี่ยว หรือชาวเวียดนามโพ้นทะเลในสหรัฐ) แต่ไม่ไว้ใจจีน แต่ไทยกลับเหินห่างสหรัฐและดูจะเป็น “ลูกไล่” ของมหาอำนาจใหม่อย่างจีนเข้าไปทุกทีแล้ว
ระวังไทยอาจถือหางผิดข้าง ทำไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ
 
บทความโดย : ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัย-ประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564    

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)