อ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญ ทำไม "ข้อมูล" จึงสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย

เป็นปัญหาไก่กับไข่เมื่อเศรษฐกิจไทยและตลาดทุนยังต้องการ ‘ข้อมูล’ จำนวนมากเพื่อวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างระบบข้อมูลของประเทศ โดยกระทรวงการคลังมองว่าการเตรียมข้อมูลในช่วงเวลาปกติจะทำให้การรับมือต่อวิกฤตง่ายขึ้น
 
อนุชิต อนุชิตานุกูล ชี้ว่าปมปัญหาหลักมาจากไทยยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เก็บข้อมูลให้เป็นระบบ และยังไม่เปิดให้เกิดการแข่งขันเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ 
 
FETCO และ TDRI ชี้เมื่อขาดฐานข้อมูลจะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีที่จะระดมทุนในตลาดทุน และไทยยังขาด Financial Literacy
หลายปีมานี้ไม่ว่าภาครัฐหรือธุรกิจก็พูดถึงความสำคัญของ ‘ข้อมูล’ (Data) กันทั้งนั้น แต่การใช้ข้อมูลหรือการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้สอดรับกับตลาดทุนยังต้องพัฒนาในด้านใดบ้าง
 
THE STANDARD WEALTH ชวนอ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญหลายด้านจากงานเสวนา หัวข้อ ‘แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. กับทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุนปี 2564’ ที่จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อมองอนาคตการใช้ข้อมูลกับตลาดทุนไทยที่กำลังปรับตัว
 
คลังเผย การเก็บข้อมูลต้องเตรียมช่วงเวลา ‘ปกติ’ เพื่อพร้อมใช้ในวิกฤต
 
เริ่มกันที่มุมมองของภาครัฐ กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เล่าว่าข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ โดยในช่วงที่เศรษฐกิจปกติ หากระบบข้อมูลมีการพัฒนาจะทำให้สามารถดึงข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับใช้ได้ตรงจุดในช่วงวิกฤต ซึ่งรวมถึงเอสเอ็มอีที่ยังเปราะบางจากสถานการณ์ของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา 
 
ทั้งนี้ การที่จะทำให้การใช้ข้อมูลมีประสิทธิภาพ นอกจากต้องทำโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้ดีแล้ว (ทั้งบุคคลและเอสเอ็มอี) ยังต้องสร้างความตระหนักเรื่องไซเบอร์มากขึ้นด้วย
 
ด้าน อนุชิต อนุชิตานุกูล กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าหลายคนพูดว่า Data คือ New Oil แต่ไม่มีใครเน้นว่าต้องสร้างฐานข้อมูลขึ้นมาก่อน 
 
“เช่น เราไปสนใจรถไฟฟ้าคือเทคโนโลยี ถ้าเราให้ความสนใจเฉพาะตัวเทคโนโลยีโดยเราไม่สร้างสองอย่าง คือโครงสร้างพื้นฐาน ถนนต่างๆ ให้รถวิ่ง แล้วเราก็ไม่ได้สนใจว่าจะใส่ไฟให้รถไฟฟ้าอย่างไร มันเหมือนกัน คือเราทำเทคโนโลยี แต่ไม่ได้สนใจว่ามันต้องใช้อะไร ใช้ Data ไปรันมันจะทำอย่างไร”
 
ปัญหาคือประเทศยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเก็บข้อมูลสำหรับการจัดการทุกอย่างอย่างเป็นระบบ เมื่อจะสร้างเครื่องมือ ระบบใหม่ หรือ AI ก็ไม่มีข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ได้ 
 
“ถ้าไม่มีตัวนี้ (ระบบการจัดเก็บข้อมูล) เราจะไปหวังอย่างไรว่าจะมี AI มีอะไรขึ้นมา ซึ่งมันจะต้องสร้างอยู่บน Data ส่วน AI คือสมอง ถ้าสมองไม่มี Data ต่อให้สมองเป็นอัจฉริยะก็เป็นอัจฉริยะสมองกลวง ซึ่งอยู่ที่ว่าจะมีการทำแผนอย่างไร ไม่ใช่แค่ ก.ล.ต. แต่ต้องไปถึงกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ การรายงานของตลาดฯ ให้มีแพลตฟอร์มที่จะสร้าง Data และให้ Data Available (คนเข้าถึงและใช้งานได้จริง)” 
 
ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานต้องไม่ปิดกั้น โปร่งใส ชัดเจน
อนุชิตเล่าต่อว่าตลาดทุนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ยิ่งโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่หมายถึงพฤติกรรมคนก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งการปรับตัวให้เร็วต้องดูความพร้อมด้วย เช่น แม้ไทยจะมีเรื่อง E-Payment แต่ยังขาดเรื่อง ID ในการพิสูจน์ตัวตนในดิจิทัล Cyber Security (ซึ่งมาจากการวางแผนที่ดี) ฯลฯ 
 
ดังนั้นตลาดทุนยังมีความท้าทายหลักคือเรื่อง Data ซึ่งจะเชื่อมกับระบบต่างๆ หลายด้าน เช่น สิทธิในการเข้าถึง Data สังเกตว่าข้อมูลที่ไม่เท่ากันทำให้ใครได้ประโยชน์มากกว่าหรือไม่ การเข้าถึงเอสเอ็มอี ฯลฯ จึงต้องสร้างระบบข้อมูลที่โปร่งใสชัดเจนยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึง Digital Infrastructure จะต้องออกแบบให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่ใช่เฉพาะบางกลุ่มหรือบางแอปพลิเคชันเท่านั้น เมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงได้จะเกิดการแข่งขันที่นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ และเกิดสิ่งที่ดีที่สุดให้กับทั้งสังคม 
 
“การเป็นดิจิทัลไม่ใช่การลอกกระดาษให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ที่ต้องส่งเอกสารกระดาษเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ซึ่งเอาไปทำ Processing อะไรไม่ได้ ต้องเป็นข้อมูลในรูปแบบโครงสร้างที่ดี และต้องไปซึมอยู่ทุกกระบวนการ เช่น อยากแก้ปัญหาการออมของประเทศ แต่ข้อมูลง่ายๆ อย่างข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่มีเลข 13 หลัก ทำให้ไม่รู้ว่าใครถืออยู่ ซึ่งทำให้คำนวณอย่างอื่นไม่ได้”  
 
TDRI-FETCO ความรู้และข้อมูลการเงินต้องทั่วถึงทุกกลุ่ม ดึงเอสเอ็มอีระดมทุนง่ายขึ้น 
ในฝั่งนักวิชาการ กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เล่าว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องพัฒนา Financial Literacy อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีอยู่ราว 3 ล้านคน ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 13 ล้านคน) กลุ่มนี้ยังต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะเกี่ยวพันถึงการที่เอสเอ็มอีจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้มากขึ้นด้วย 
 
ขณะที่ปี 2564 นี้ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 20% แล้ว และก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างชัดเจน จึงต้องมีการดูแลและสนับสนุนการให้ความรู้ Financial Literacy มากขึ้นด้วย
 
ไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่าวันนี้เราจะสร้างกระดานเทรดหุ้นเอสเอ็มอีและให้รายย่อยเข้ามาซื้อขายได้ ที่ผ่านมาในวงการนักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญในตลาดพยายามหาช่องทางสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น การจะออกกองทุนที่ไปช่วยสภาพคล่องเอสเอ็มอี โดยเริ่มที่ลงทุนในหุ้นกู้ของเอสเอ็มอี แม้จะคิดคอนเซปต์นี้ได้ แต่ไม่มีใครกล้าวิเคราะห์เอสเอ็มอี ขนาดนักลงทุนสถาบันยังทำไม่ได้ และหากเป็นหุ้นทุนให้รายย่อย แต่จะเอาข้อมูลจากไหน ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ (แม้ว่าจะมีการพูดถึงการสร้างนักวิเคราะห์ธุรกิจเอสเอ็มอี มีผู้สอบบัญชีมาช่วย)
 
“อยากให้คิดดีๆ เป็นกระบวนท่า ดีมากๆ ที่จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงไฟแนนซ์ในตลาดทุน แต่อยากให้ A ไปถึง Z เลยว่าจะเริ่มอย่างไร แล้วสุดท้ายจะกลายเป็นเอสเอ็มอีที่มีคุณภาพพอที่จะเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในที่สุด มันควรจะเป็นแบบนี้ แต่ระหว่างทางก็คิดกันให้ดีๆ ไม่อย่างนั้นเอสเอ็มอีที่ได้สภาพคล่องแล้วก็แช่อยู่แบบนั้น อยู่ที่เดิม ซึ่งไม่ได้เติบโตต่อเนื่องไปทั้งเศรษฐกิจ”
 
โดย ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์
 
ที่มา thestandard.co
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)