เศรษฐกิจอาเซียนฟื้น-เวียดนามจ่อโตสุดปี 64
ปีนี้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าฟื้นโมเมนตัมทางเศรษฐกิจสู่ระดับก่อนถูกโควิด-19 ฉุดรั้งให้ถดถอยลงเป็นประวัติการณ์ หลายปัจจัยอาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ก็จริง แต่ความเสี่ยงยังคงอยู่เช่นกัน
เว็บไซต์แชนแนลนิวส์เอเชีย รายงาน กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ แถลงวานนี้ (15 ก.พ.) คงคาดการณ์ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำปี 2564 ที่ 4%-6% เศรษฐกิจปี 2563 หดตัว 5.4% ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ล่วงหน้าที่ -5.8% และเหนือกว่าการคาดการณ์ของรัฐบาลที่ -6% ถึง -6.5% ถือเป็นปีที่เศรษฐกิจสิงคโปร์หดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2544 และถดถอยหนักสุดนับตั้งแต่ได้เอกราช
สัปดาห์ก่อน นายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง กล่าวว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์จำนวนมากจะดีขึ้นในปีนี้ แต่บางภาคส่วนเช่นการขนส่ง ท่องเที่ยว และการบินอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น
เว็บไซต์นิกเคอิรายงานว่า สิงคโปร์ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังตั้งเป้าฉีดวัคซีนผู้ใหญ่ทุกคนภายในเดือน ก.ย. การที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณบวก แม้ข้อจำกัดการเดินทางที่บังคับใช้มานานยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจ
แนวโน้มเศรษฐกิจสิงคโปร์อาจมองได้ว่าเป็นภาพจำลองเศรษฐกิจในภูมิภาค ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่กำลังไปได้สวย และความสำเร็จในการฉีดวัคซีนสำคัญต่อการพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
อินโดนีเซีย คาดว่าปีนี้จีดีพีขยายตัวระหว่าง 4.5%-5.5% จากที่เคยหดตัว 2.1% ในปีที่ผ่านมา เมื่อเดือนมี.ค. อินโดนีเซียเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจำนวนมากไปแล้ว โดยตั้งเป้าฉีด 181 ล้านคนหรือ 70% ของประชากร ภายในเดือน มี.ค.2565 ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการภายในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึงราว 1.2 ล้านคน มากที่สุดในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนน่าจะเจอกับอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในประเทศที่มีหมู่เกาะมากมายอย่างอินโดนีเซีย อีกทั้งอัตราประสิทธิภาพอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าฉีดวัคซีนชนิดใดด้วย ธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ของสิงคโปร์รายงานว่า ในสถานการณ์เลวร้ายที่ประสิทธิผลของวัคซีนแค่ 50% ฉีดให้ประชากร 35% จีดีพีอินโดนีเซียปีนี้อาจโตไม่เกิน 2%
ฟิลิปปินส์ก็สถานการณ์คล้ายกัน คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจขยายตัว 6.5%-7.5% เทียบกับปี 63 ที่เศรษฐกิจหดตัว 9.5% แต่ปีนี้กลับมาเป็นบวกได้เพราะกิจกรรมทางธุรกิจกลับมาเริ่มได้อีกครั้ง ประกอบกับเริ่มฉีดวัคซีน
ในมาเลเซียที่ยังคงอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สัปดาห์ก่อนธนาคารกลางแถลงจีดีพีปี 2563 หดตัว 5.6% โดยไม่ได้เผยเป้าจีดีพีประจำปี 2564 ถือเป็นตัวเลขเศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียในปี 2541
“ปี 2564 เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ได้แรงหนุนจากความต้องการในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศกลับมาเป็นปกติ” ธนาคารกลางมาเลเซียระบุ แต่ไม่วายเตือน “ความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วและแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในระดับโลกและภายในประเทศ”
นิกเคอิรายงานด้วยว่า ปีนี้ ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เศรษฐกิจเติบโตที่สุดอาจจะเป็นเวียดนาม ที่ปี 2563 ขยายตัว 2.9% เนื่องจากสกัดไวรัสได้สำเร็จ มีผู้ติดเชื้อแค่ราว 2,100 คนเท่านั้น ควบคู่กับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ แข็งแกร่ง สำหรับปี 2564 นี้รัฐบาลฮานอยตั้งเป้าเติบโต 6.5%
“การส่งออกของเวียดนามจะได้แรงหนุนต่อเนื่องจากการที่สหรัฐเก็บภาษีสินค้าจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษี บริษัทนำเข้าจึงเปลี่ยนจากสั่งของจากจีนไปเป็นซัพพลายเออร์รายอื่นแทน เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนดูท่าว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกหลายปี แนวโน้มที่การส่งออกเวียดนามจะได้ประโยชน์ก็น่าจะต่อเนื่องต่อไป” แกเรธ ลีเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียจากบริษัทที่ปรึกษาแคปิตอลอีโคโนมิก รายงานไว้เมื่อเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ก่อนโควิด-19 ระบาด เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตรวมกันเฉลี่ยปีละราว 5% มานานหลายปี เป็นภูมิภาคที่มีผลงานดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลายเป็นปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากมีประชากรหนุ่มสาวที่เป็นตัวผลักดันความต้องการ ทั้งยังเป็นแรงงานการผลิตจำนวนมาก นิกเคอิระบุว่า ความได้เปรียบเหล่านี้จะดำรงอยู่ต่อไป แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องขจัดโควิด-19 ให้ได้เสียก่อน
จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยับไปสู่ญี่ปุ่น วานนี้สำนักงานคณะรัฐมนตรีแถลงว่า จีดีพีปี 2563 หดตัว 4.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 ถือเป็นการหดตัวครั้งรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 2 เท่าที่เคยมีมา ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยหดตัว5.7% ในปี 2552 หดตัวมากที่สุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2498
ในปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนที่คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีญี่ปุ่นลดลง 5.9% ส่วนใหญ่เป็นเพราะประชาชนอยู่บ้านช่วงที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศในฤดูใบไม้ผลิ เมืองใหญ่หลายแห่งใช้มาตรการเข้มงวดบั่นทอนความต้องการสินค้าจำพวกรถยนต์ และการส่งออกของญี่ปุ่นลดลง 12.3%
ขณะเดียวกันหากพิจารณาเป็นรายไตรมาส จีดีพีไตรมาส ต.ค.-ธ.ค.ปี 2563 ขยายตัวจริง 3% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือ 12.7% เมื่อคิดเป็นรายปี ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 2563 จีดีพีก็พุ่งขึ้น 22.7% เมื่อคิดเป็นรายปีเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นการเติบโตสองไตรมาสติดกันหลังจาก เม.ย.-มิ.ย. เศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกโควิดเล่นงานหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 29.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ยาสุโทชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฟื้นฟูเศรษฐกิจแถลงว่า ตัวเลขจีดีพีปี 2563 สะท้อนถึงสถานการณ์ที่รุนแรงยิ่ง ขณะที่ตัวเลขเดือน ต.ค.-ธ.ค.ชี้ว่าเศรษฐกิจพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และสามารถฟื้นตัวได้
ส่วนสถานการณ์ข้างหน้านักวิเคราะห์หลายคนคาดว่า จีดีพีญี่ปุ่นจะติดลบอีกครั้งในไตรมาส ม.ค.-มี.ค. เนื่องจากกรุงโตเกียวและ 9 จังหวัดจาก 47 จังหวัดของประเทศ อยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินรอบ 2 ท่ามกลางการติดเชื้อระลอก 3
วานนี้ ดัชนีนิกเคอิ 225 ขยับขึ้น 1.91% หรือ 564.08 จุด ผ่านแนวรับ 30,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ปิดที่30,084.15 จุด สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533
โทชิคาซุ โฮริอุชิ นักวิเคราะห์จากอิวาอิคอสโม ซีเคียวริตีส์ เผยว่า ตลาดมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ประกอบกับการฉีดวัคซีนครั้งแรกที่จะเริ่มต้นได้เร็วสุดในวันพุธ (17 ก.พ.) นี้โดยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564