เตรียมพร้อมรับมือฉุกเฉิน กนง.แจงเหตุเศรษฐกิจไทยเปราะบาง
กนง.มองเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง แนะรัฐเตรียมชุดมาตรการการเงินและการคลังฉุกเฉิน พร้อมใส่แรงกระตุ้นเพิ่ม รับมือความผันผวนของเศรษฐกิจ เช่น ปลายปีเปิดรับนักท่องเที่ยวยังไม่ได้ ขณะที่ห่วงสถานะการเงินคนไทย ธุรกิจไทยย่ำแย่ลง หวั่นผิดนัดชำระหนี้พุ่ง สั่ง ธปท.ต่ออายุมาตรการการเงิน รวมทั้งออกเพิ่มเติม และเร่งรัดกระจายสินเชื่อให้คนที่จำเป็นแก้หนี้ให้ตรงจุดมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 1/2564 ในการประชุมวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงกลางปีนี้ ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงและเงินสกุลภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า
สำหรับเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ไม่รุนแรงเท่าเดิม ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังขยายตัวได้ แม้อาจต่ำกว่าประมาณการ ณ เดือน ธ.ค.ที่คาดว่าจะโต 3.2%บ้างโดยปัจจัยลบที่เข้ามากดดันในปัจจุบันคือ 1.การระบาดระลอกใหม่ ส่งผลบริโภคภาคเอกชนลดลง โดยพบว่ามีแรงงานที่มีความเสี่ยงรายได้จะลดลงมากประมาณ 4.7 ล้านคน ทำให้ กนง.กังวลสภาวะตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอาชีพอิสระ และลูกจ้างรายวันนอกภาคเกษตร รวมทั้งลูกจ้างในสาขาโรงแรม 2.นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง และ 3.รายจ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2565ที่มีแนวโน้มน้อยลง อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ประกาศเพิ่มเติมในช่วงครึ่งแรกของปี การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัว และการเลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณบางส่วนจากเดิมในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มาเป็นในช่วงปี 2564 ช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้บ้าง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายหรือเพิ่มขึ้นเกิน 1% ในช่วงกลางปี 2564 แต่เสถียรภาพระบบการเงินที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้วได้รับผลกระทบเพิ่มเติม รายได้ครัวเรือนที่ปรับลดลง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบก่อนและได้รับผลกระทบเพิ่มเติม จึงต้องติดตามคุณภาพหนี้ในภาคครัวเรือนที่อาจด้อยลงในระยะต่อไป ภาคธุรกิจมีรายได้ลดลงและมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและบริการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบก่อน ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีประสบปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวน้อยลง และอาจทำให้ธุรกิจมีปัญหาขาดสภาพคล่องมากขึ้น บางธุรกิจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าภาครัฐควรเตรียมชุดมาตรการการเงินและการคลังที่สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้พร้อมออกใช้ได้ทันทีหากจำเป็น เช่น ความเสี่ยงที่ไทยไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยภาครัฐควรเตรียมความพร้อมมาตรการการคลังเพื่อสร้างแรงกระตุ้นทางการคลังต่อเนื่องรองรับความไม่แน่นอนนี้ที่อาจเกิดขึ้นและเห็นว่าระดับหนี้สาธารณะที่ปรับสูงขึ้นในระยะปานกลางยังไม่ได้กระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับด้านมาตรการการเงินนั้น กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเห็นควรให้ ธปท.ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการการเงินเพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาต่ออายุมาตรการทางการเงินที่จะทยอยครบกำหนดในปี 2564 โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของระดับอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ สภาพคล่องในระบบธนาคารยังอยู่ในระดับสูง แต่โจทย์คือการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนให้ทั่วถึง จึงควรใช้มาตรการทางการเงินและสินเชื่อซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564