โควิด-19 ฉุดส่งออกอาหารไทยปี 63 เหลือ 9.8 แสนลบ. หดตัว 4.1% ลุ้นปี 64 ฝ่าปัจจัยเสี่ยงสู่เป้า 1.05 ล้านลบ.

3 องค์กรด้านอุตฯอาหารเผยปี 63 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 980,703 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 4.1  ส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลงเหลือร้อยละ 2.32 จากร้อยละ 2.49 ในปี 62  ผลักให้ไทยหล่นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 11 ในปีก่อน  ชี้ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19  การแข็งค่าของเงินบาท  ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น คาดปี 64 ยังต้องฝ่าอีกหลายด่านเพื่อเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 7.1 ที่มูลค่าส่งออก 1.05 ล้านล้านบาท
     
3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สภาหอการค้าฯ สถาบันอาหาร และสภาอุตสาหกรรมฯ เผยข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพจน์  อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางอนงค์  ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  และ ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช รองประธาน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ร่วมแถลงข่าว
 
     
โดยในปี 2563 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยหดตัวลงร้อยละ 6.5 เป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะในกลุ่มมันสำปะหลัง อ้อย(น้ำตาล) และสับปะรด 
     
ส่วนภาคการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2563 มีมูลค่า 980,703 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.1 หรือในรูปดอลลาร์คิดเป็นมูลค่าส่งออก  31,284  ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.1 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.32 จากร้อยละ  2.49  ในปี 2562 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 11 ในปีก่อน
     
“ทั้งนี้ตลาดส่งออกอาหารของไทยปี 2563 มีเพียงประเทศจีน สหรัฐฯ และโอเชียเนีย 3 ตลาดหลักเท่านั้นที่มีอัตราขยายตัว โดยการส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่า 179,761 ล้านบาท(+18.1%) สหรัฐฯมีมูลค่า 118,718 ล้านบาท (+12.2%) ภูมิภาคโอเชียเนียมีมูลค่า 33,056 ล้านบาท(+1.7%) ส่วนตลาดอื่นๆ หดตัวลง โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้สะฮารา(Sub-Saharan Africa)(-29.1%) อาเซียนเดิม (-17.7%) สหภาพยุโรป(-11.0%) กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ(MENA)(-11.3%) และสหราชอาณาจักร(-12.1%) ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ18.3 รองลงมา ได้แก่ CLMV ร้อยละ 13.9 และญี่ปุ่น ร้อยละ 12.7 ตามลำดับ พบว่าสินค้าอาหารไทยพึ่งพิงตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอย่างจีนและ CLMV มากขึ้น โดยมีสัดส่วนส่งออกรวมกันสูงถึงร้อยละ 32.2 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 12.1 ในช่วง 10  ปีก่อน โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนและ CLMV เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 19.6 และ 8.9 ต่อปี ตามลำดับ”
     
ขณะที่มีการพึ่งพิงตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรลดลง ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยัง 4 ตลาดดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนรวมกันร้อยละ 32.4 ลดลงจากร้อยละ 42.4 ในช่วง 10 ปีก่อน โดยในช่วงดังกล่าวไทยส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป และ สหราชอาณาจักร ลดลงเฉลี่ยร้อยละ -3.1 และ -0.9 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ส่งออกไปญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.4 และ 0.5 ต่อปี ตามลำดับ
     
นอกจากอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19แล้ว ยังมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปมีมูลค่าส่งออก 581,533 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 5.6 หรือมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 59.3 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีมูลค่าส่งออก 399,170 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.0 หรือมีสัดส่วนร้อยละ 40.7 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม ทั้งนี้กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง(+9.1%)  เครื่องปรุงรส(+8.1%) และอาหารพร้อมรับประทาน(+12.6%) ซึ่งสอดรับกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่บ้าน  ในขณะที่กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว(-11.6%) ไก่(-2.4%) น้ำตาลทราย(-40.6%)  แป้งมันสำปะหลัง(-4.4%) กุ้ง(-13.8%) ผลิตภัณฑ์มะพร้าว(-2.7%) และสับปะรด(-2.4%)
     
ด้านภาพรวมการค้าสินค้าเกษตรและอาหารโลกในปี 2563 มีมูลค่า 1.35 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่มีมูลค่าการค้าสูงสุด ได้แก่ ผักผลไม้ ธัญพืช และเนื้อสัตว์ และสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของโลก ในขณะที่บราซิลเลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ของโลก จากอันดับที่ 5 ในปีก่อน ส่วนอินโดนีเซีย อันดับโลกดีขึ้น 2 อันดับขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 11  เพราะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้น และอาหารส่งออกในกลุ่มอื่นๆ ที่ขยายตัวดี อาทิ กุ้งแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง กาแฟ และโกโก้ เป็นต้น
     
“แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1) ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน 2) ราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสับปะรด  3) การกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย”
     
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้า ได้แก่ 1) การขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก เช่น กุ้ง ปลาทะเล ปลาหมึก  2) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าสวนทางดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง ซึ่งจะกระทบกับกลุ่มอาหารส่งออกที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศในสัดส่วนที่สูง เช่น กุ้งแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ไก่ น้ำตาลทราย ข้าว และผักผลไม้สด เป็นต้น 3) ต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งภายในประเทศที่มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
     
สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะปรับตัวสูงขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ไก่(+2.0%) ปลาทูน่ากระป๋อง(+3.6%)  แป้งมันสำปะหลัง(+7.4%) เครื่องปรุงรส(+4.1%) มะพร้าว(+2.3%) อาหารพร้อมรับประทาน(+4.6%)  และสับปะรด(+8.0%)  ส่วนสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะใกล้เคียงกับปีก่อน คือ ข้าว(+5.7%) ส่วนน้ำตาลทราย(+51.3%)จะมีปริมาณส่งออกทรงตัว แต่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก ขณะที่กุ้งเป็นสินค้าหลักที่คาดว่าการส่งออกจะลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า(-2.2%)
 
ที่มา Thai Chamber
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)