ปัจจัยบริหารต้นทุนล้มเหลว ต้นเหตุข้าวไทยพ่ายเวียดนาม

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างต่อเนื่อง ขีดความสามารถการส่งออกเฉลี่ยปีละ 10 ล้านตัน แต่ช่วงไม่กี่มีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวของไทยลดลงมาโดยตลอด ล่าสุดปี2563 ไทยส่งออกข้าวได้ 5.72 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามส่งออกได้ 6.13 ล้านตันในปีเดียว
 
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างต่อเนื่อง ขีดความสามารถการส่งออกเฉลี่ยปีละ 10 ล้านตัน แต่ช่วงไม่กี่มีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวของไทยลดลงมาโดยตลอด ล่าสุดปี2563 ไทยส่งออกข้าวได้ 5.72 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามส่งออกได้ 6.13 ล้านตันในปีเดียวกัน ปริมาณการส่งออกแม้ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่สำคัญต่อศักยภาพการผลิต การบริโภคและการค้าข้าว แต่สินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำนวนประชากรสูงสุดของประเทศไทยกำลังถูกท้าทายจากคู่แข่งที่สำคัญอย่าง“เวียดนาม”
 
 
สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า เวียดนามประสบความสำเร็จในนโยบาย 3 เพิ่ม 3 ลดที่ต่อเนื่องมา 30 ปีซึ่งใช้กับการส่งเสริมการปลูกข้าวในประเทศทำให้ผลผลิตเพิ่ม ต้นทุนในการผลิตลดลง มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันเวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งส่งออกข้าวกับประเทศไทยและสามารถที่จะแย่งชิงตลาดข้าวพื้นนุ่มหรือข้าวหอมจากไทยไปได้มากขณะเดียวกันตลาดข้าวหอมของไทยกลับหดตัวลงจากเดิมที่เคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดก่อนปี 2551 อยู่ที่ 99% แต่ตั้งแต่ในปี 2561 เป็นต้นมาส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวไทยเหลือเพียงประมาณ 43% เท่านั้น 
 
ในแง่ของการส่งออกข้าวหอมเวียดนามทำได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากที่เคยส่งออกได้เพียงปีละประมาณ 80,000 ตันในช่วงปี 2551 เพิ่มมาเป็น 2.1 ล้านตันในอีก 10 ปีต่อมา ขณะที่ไทยส่งออกข้าวหอมได้ในระดับประมาณ 2 ล้านตันมาโดยตลอด 
 
ทั้งนี้ ตลาดที่เวียดนามเข้าไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดข้าวไทยอย่างมากก็คือตลาดจีน ซึ่งแม้ไทยจะยังรักษาตลาดข้าวหอมมะลิไว้ได้แต่จากราคาข้าวหอมมะลิ และราคาข้าวหอมอื่นๆที่ไทยส่งออกมีราคาสูงกว่าข้าวหอมที่เวียดนามส่งออกอย่างชัดเจนทำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปสั่งข้าวจากเวียดนาม โดยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาเริ่มเห็นความชัดเจนเท่าราคาข้าวหอมเวียดนามมีราคาถูกกว่าข้าวจากไทยโดยราคาข้าวหอมของเวียดนามอยู่ที่ราคาเฉลี่ยน 570 - 600 ดอลลาร์ต่อตันขณะที่ข้าวหอมของไทยเช่นข้าวหอมปทุมมีราคาสูงกว่า 600 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลินั้นราคาอยู่ในระดับ900- 1000 ดอลลาร์ต่อตัน 
 
ส่วนปริมาณการส่งออกข้าวโดยรวมการส่งออกข้าวของไทยเริ่มลดต่ำลงและน้อยกว่าเวียดนามโดยในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวได้ประมาณ 5.7 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามส่งออกได้มากกว่า 6 ล้านตัน ซึ่งเวียดนามมีการส่งออกข้าวมากขึ้นเรื่อยๆและนำข้าวคุณภาพต่ำกว่าจากอินเดียมาบริโภคในประเทศ
 
ด้านการผลิต เวียดนามมีข้อได้เปรียบไทยในหลายด้านประการแรกเวียดนามมีพื้นที่ชลประทานมากถึง 70%ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดขณะที่ไทยมีพื้นที่ชลประทานอยู่ประมาณ 25% ของพื้นที่เพาะปลูกเท่านั้น ประกอบกับเวียดนามมีระบบที่เข้มแข็งในการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ข้าวร่วมกันระหว่างชาวนาและเอกชนซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ของเวียดนามสูงกว่าไทยเท่าตัวอยู่ที่ประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่ขณะที่ได้อยู่ที่ประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น 
 
“ในตลาดข้าวขาว5% และข้าว 25% นั้นเราสู้เวียดนามไม่ได้แน่ๆทั้งในแง่ของปริมาณผลผลิต  และราคาการส่งออก ตลาดที่ต้องรักษาไว้ก็คือตลาดข้าวหอมมะลิที่ยังเป็นตลาดพรีเมียมที่เราต้องรักษาคุณภาพไว้ให้ได้ไม่เช่นนั้นก็จะถูกแย่งตลาดไปอีกหากคุณภาพข้าวลดลง”
 
ด้านร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  กล่าวว่า การปรับตัวอีกด้านของข้าวไทยคือบริหารจัดการต้นทุนการผลิต เพราะแม้จะไม่สามารถลดต้นทุนด้านอื่นโดยเฉพาะแรงงานได้ แต่หากสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนโดยเฉลี่ยของไทยลดลงไปเอง แต่จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีพันธุ์ข้าวและวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสม
 
 ทั้งนี้ แนวทางแก้ปัญหาคือการเร่งนำยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบัน พบว่ายังมีปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าวและขั้นตอนกฎหมายการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าว เพราะตลาดข้าวโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมากพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ซึ่งมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลด้านราคา และปัจจัยไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่บริโภคแป้งน้อยลง ทำให้การทำตลาดข้าวจากนี้ หากเป็นตลาดที่ซื้อปริมาณมากก็จะถูกเบียดด้วยราคาที่ไทยแข่งขันไม่ได้ และหากเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญด้านคุณภาพ ก็พบว่า ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้มีคุณสมบัติเด่นเหมือนก่อน
 
“แต่ก่อนหุงข้าวหอมมะลิ จะหอมฟุ้งไปทั่ว แต่ตอนนี้ ข้าวหอมมะลิไทย เวียดนาม หรือ จากที่อื่นๆจะเหมือนกัน แต่ที่ไม่เหมือนกันคือราคา เพราะข้าวไทยเฉลี่ย ตันละ1,000 ดอลลาร์ แต่ข้าวหอมมะลิเวียดนามเฉลี่ยที่ ตันละ 700 ดอลลาร์ ของเหมือนกันจะจ่ายแพงกว่าทำไม นี่คือแนวคิดของผู้ซื้อในตลาดในปัจจุบัน”
 
สถานการณ์ข้าวไทยกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่เนื่องจากการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสาเหตุสำคัญมาจากราคาข้าวไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นทุกเดือนจนทำให้การทำตลาดเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันคุณภาพข้าวก็ไม่ได้แตกต่างจากคู่แข่ง
 
“ตอนนี้ถือว่าการส่งออกข้าวของไทยถึงจุดต่ำสุด ถ้ามองให้ดีก็เป็นโอกาสที่เราต้องปรับตัวแล้วหลังจากที่เตือนกันมานานหลายปีว่าผลผลิตต่อไรเราต่ำเฉลี่ยที่ 350 กก. ขณะที่เวียดนามผลผลิตเฉลี่ย 700 กก.ทำให้ต้นทุนเราสูงกว่าคู่แข่งทันที ถ้ายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป คงได้เห็นส่งออกปีละ 5 ล้านตัน ปีละ 4 ล้านตัน ลดลงไปเรื่อยๆจนเราไม่มีที่จะยืนในตลาดโลก”
 
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่าไทยมีการกำหนดแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2563/64 ประกอบด้วย การกำหนดอุปสงค์และอุปทานข้าว การวางแผนการผลิตข้าว ซึ่งสามารถปรับสมดุลการผลิตได้ในการวางแผนรอบที่ 2 หากราคามีความอ่อนไหว ความต้องการใช้ข้าวลดลง และสถานการณ์น้ำน้อย รวมทั้งการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น โดยจะมีการทบทวนโครงการ ซึ่งแผนดังกล่าวครอบคลุมถึงการส่งออกข้าวซึ่งได้มีการประเมินสถานการณ์ผู้ผลิตและส่งออกข้าวอย่างเวียดนามล่าสุดไว้ว่า ราคาข้าวเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นสูงที่สุดในรอบกว่า 9 ปีนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2554 ท่ามกลางภาวะการค้าที่ชะลอตัว เนื่องจากเทศกาลตรุษเวียดนามที่ผ่านมาขณะที่ผู้ซื้อบางส่วนระงับการทำสัญญาในช่วงนี้เพื่อรอดูผลผลิตข้าวฤดูใหม่ ประกอบกับอุปทานข้าวในตลาดมีปริมาณลดลงส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ประมาณตันละ 510-515 ดอลลาร์ สูงขึ้นจากตันละ 505-510 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า
 
ทั้งนี้ วงการค้าระบุว่าผู้ซื้อบางส่วนชะลอการซื้อในช่วงนี้เพื่อรอดูผลผลิตข้าวฤดูใหม่ (winter-spring crop)ซึ่งเริ่มทยอยออกสู่ตลาดบ้างแล้วแต่ยังมีปริมาณไม่มากนัก โดยคาดว่าจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมี.ค.นี้
 
The Oceanic Agency and Shipping Service รายงานว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค. – 6 ก.พ.2564 มีเรือบรรทุกสินค้าอย่างน้อย 11 ลำ เข้ามารอรับขนถ่ายสินค้าข้าว (breakbulk ships) ที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City Port เพื่อรับมอบข้าวประมาณ 124,950 ตัน และกรมศุลกากรรายงานว่าในเดือนม.ค. 2564 เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 347,774 ตัน ลดลง 12.4% มูลค่าประมาณ 191.9 ล้านดอลลาร์ ลดลง0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)